คมนาคม ไม่หวั่นโควิด ลุย ทางหลวง-มอเตอร์เวย์
วรรณิกา จิตตินรากร
กรุงเทพธุรกิจ
การพัฒนามอเตอร์เวย์และทางหลวงเดินหน้าต่อแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่ประเทศเจอปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้มีการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะการพัฒนามอเตอร์เวย์ที่จะเป็นเส้นทางหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ปิยพงศ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด โดยระบุว่า ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้า 99% ซึ่งกรมทางหลวงเตรียมเปิดทดลองให้บริการในปลายเดือน พ.ค.นี้ ก่อนเปิดบริการอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.2563
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยามาบตาพุด นับเป็นเส้นทางที่สายหลักที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่เชื่อมโยง กับท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ โครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ
ขณะเดียวกันกรมทางหลวงยังมีแผนพัฒนาส่วนต่อขยายโครงข่ายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่ออีอีซี ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางแหลมฉบัง-ปราจีนบุรีนครราชสีมา โดยปัจจุบันกรมทางหลวงได้ศึกษาและออกแบบแนวเส้นทางไปแล้ว ราว 50% และอยู่ระหว่างของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบ แนวเส้นทางให้แล้วเสร็จ
”การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่อย่างไรก็ดีเข้าใจว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น กรมทางหลวงในฐานะหน่วยงาน ก็เตรียมความพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในทุกเรื่อง คงต้องรอฟังนโยบายอย่างชัดเจนก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไร ในเรื่องของการลงทุน เบื้องต้นเชื่อว่าคงมีการ พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน”
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า กรมทางหลวงมีแผนที่จะขยายโครงการมอเตอร์เวย์ เพื่อสนับสนุนการขนส่งอีอีซี และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง ภูมิภาค ด้วยโครงการมอเตอร์เวย์สายชลบุรี- หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ซึ่งปัจจุบัน ศึกษาจะพัฒนาในแนวเส้นทางแหลมฉบัง- ปราจีนบุรี-นครราชสีมา โดยแบ่งการ พัฒนาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ระยะทางประมาณ 130-140 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา
ขณะที่งบการก่อสร้างในส่วนของระยะที่ 1 ประเมินว่าจะต้องใช้ราว 4 หมื่นล้านบาท สถานะโครงการปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบไปแล้วราว 50% หรือประมาณ 60-70 กิโลเมตร และกรมทางหลวงได้เสนอ ของบประมาณประจำปี 2564 เพื่อใช้ออกแบบเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นทราบว่า ไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรงบดังกล่าว ส่งผลให้โครงการมอเตอร์เวย์แหลมฉบังปราจีนบุรี-นครราชสีมา อาจชะลอไปก่อน
ทั้งนี้ หากโครงการสามารถพัฒนาได้ครบ ทั้ง 2 ระยะ โดยกรมทางหลวงมั่นใจว่าจะเป็น มอเตอร์เวย์เส้นสำคัญของประเทศ สนับสนุนการขนส่งสินค้า เป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระยะอีสานและภาคตะวันออกใช้เวลาลดลง จาก 5.30 ชั่วโมง เหลือ 3.30 ชั่วโมง
ปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายทางถนน ในพื้นที่อีอีซี เพื่อสนับสนุนการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าให้กับเกษตรกร โดยล่าสุดมีโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์อีกจำนวน 1 สายทาง คือ ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยก ทล.3138-ทล.344 อ.บ้านค่าย, วังจันทร์ จ.ระยอง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 159 ล้านบาท เชื่อมระหว่าง อ.บ้านค่าย ไปยัง อ.วังจันทร์ ผ่าน 3 ตำบล (ต.หนองบัว ต.ป่ายุบใน ต.ชุมแสง) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง
กรมทางหลวงชนบทมีโครงการสนับสนุนโครงข่ายการขนส่งอีอีซีที่อยู่ ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ วงเงินลงทุน รวมประมาณ 6.6 พันล้านบาท ประกอบไปด้วย 1.ทางหลวงชนบทสายแยก ทล.7- ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ระยะทาง 10.57 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 1,499 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
2.ทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา และจ.สมุทรปราการ ระยะทาง 20.32 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 3,801 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
3.ทางหลวงชนบทสาย รย.3013 แยก ทล.331-ทล.3191 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 17.32 กิโลเมตร งบประมาณ ก่อสร้าง 709 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จปี 2565
4.ทางหลวงชนบทสาย รย.2015 แยก ทล.36-ทล.331 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 11.46 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 673 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จปี 2565
รวมทั้งกรมทางหลวงชนบทได้ จัดเตรียมแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการที่จะสนับสนุนอีอีซี อีก จำนวน 5 โครงการ ประกอบไปด้วย
1.ทางหลวงชนบทสาย ชบ.3009 แยก ทล.331-บ้านหนองคล้า (ตอนแยก ทล.331- ทล.7) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระยะทาง 8.317 กิโลเมตร
2.ทางหลวงชนบทสาย ชม.3023 แยก ทล.315-บ้านหนองปลาไหล อ.พานทอง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ระยะทาง 12.242 กิโลเมตร
3.ทางต่างระดับตัดผ่าน ทล.3 (ถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี) ตามถนนสาย บ้านสวนหนองข้างคอก หมู่ 1 และ 4 อ.เมือง จ.ชลบุรี จำนวน 1 แห่ง
4.ทางหลวงชนบทสาย ชบ.1032 แยก ทล.7-บ้านปากร่วม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระยะทาง 14.620 กิโลเมตร
5.ถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.2004 แยก ทล.34-ทล.314 อ.บางปะกง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 11.102 กิโลเมตร
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ