ภาษีที่ดิน สูญแสนล.

24 Jan 2021 768 0

          อปท.7,850 แห่งทั่วประเทศอ่วม รัฐบาลลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างลง 90% ติดต่อ 2 ปี จัดเก็บรายได้ท้องถิ่นวูบ 1 แสนล้านบาท จำใจหั่นแผนงานดูแลประชาชน รัฐบาลกลางชดเชยแค่หมื่นล้าน

          ผลจากรัฐบาลมีนโยบายลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% อีกหนึ่งปี ต่อเนื่องจากปี2563 ส่งผลกระทบต่อรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั้ง7,850แห่งทั่วประเทศ ลดลง ในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ต่อปี สำหรับทางออก เสียงสะท้อนจากท้องถิ่น ระบุว่าต้องลดภาระค่าใช้จ่าย, ชะลอโครงการลงทุนออกไปและรัฐต้องชดเชยงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพราะไม่มั่นใจว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อใด

          ท้องถิ่นโอดรายได้วูบ

          นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รัฐบาลมีนโยบายขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่าน โดยจะลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% และลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหา ริมทรัพย์เหลือ 0.01% โดยมอบกระทรวงคลังและมหาดไทย นำเสนอกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อที่ประชุมครม.ต่อไป เผยว่า การลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินลง 90 % ที่ดำเนินการครั้งแรกในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หายไปประมาณ 50,000 ล้านบาท เฉพาะของเทศบาลนครและเทศบาลเมืองขนาดใหญ่ ก็ลดลงไปถึง 30,000 ล้านบาท

          “ปีที่ผ่านมาเทศบาลนครภูเก็ตก็สูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปร่วม 100 ล้านบาท หากรัฐบาลจะมีนโยบายขยายการลดอัตราการจัดเก็บต่อในปีนี้ จะทำให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไม่น้อยกว่าเดิม และบางพื้นที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบมาก ผู้ประกอบการหลายรายสู้ไม่ไหวต้องเลิกกิจการ และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นกลับมา ทำให้ฐานภาษีส่วนนี้อาจเหลือน้อยลง”

          ร่อนหนังสือของบอุดหนุน

          ทั้งนี้ รายได้ของท้องถิ่นมีเพียง 10-20 %ที่จัดเก็บเอง ที่เหลือรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดเก็บแล้วจัดสรรให้ท้องถิ่น เพื่อไปปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุโรคระบาดและต้องลดอัตราภาษีที่เป็นรายได้ของท้องถิ่น ก็ทำให้ท้องถิ่นมีเงินเหลือจากภาวะปกติเพียง 60 % ในการดูแลประชาชน

          นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า คณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจดีว่า เป็นสถานการณ์โรคระบาด ที่ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย เมื่อรายได้ท้องถิ่นหดหายไปก็ต้องไปปรับแผนงานต่าง ๆ ลง บางกิจกรรมที่ทำไม่ได้ในช่วงควบคุมการระบาดก็ยกเลิกไป เช่น งานวันเด็ก การจัดงานเทศกาลตรุษจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมการแข่งขันกีฬา เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่อาจเกิดความเสี่ยงการระบาด บางแผนงานต้องชะลอไปก่อน หรือต้องขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น ส่วนการจะนำเงินสำรองมาใช้นั้นต้องดูว่าระเบียบเปิดช่องให้แค่ไหน รวมทั้งขณะนี้ได้ทำหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณาชดเชยรายได้ของท้องถิ่นที่ขาดหายไปอยู่

          หารายได้แหล่งใหม่

          นางสาวสมใจกล่าวอีกว่า ในระยะยาวท้องถิ่นต้องหาช่องทางหารายได้ใหม่ ๆ ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว โดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ช่วยศึกษาวิจัยเรื่องนี้อยู่ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นจะได้มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่เพิ่มขึ้น อาทิเช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม

          ที่สำคัญอีกประการคือ ภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่หรือเศรษฐกิจชุมชนต้องเข้มแข็ง ซึ่งเทศบาลเราก็พยายามส่งเสริม เมื่อเศรษฐกิจฐานรากแข็งแรง หลายแห่งมีทุนทางสังคม มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่า ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เมื่อคนในพื้นที่หรือชุมชนมีรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจที่เติบโตมีความเคลื่อนไหวสุดท้ายทำให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีขึ้น มีกำลังที่จะดูแลพื้นที่ดีขึ้นตามไปด้วย

          พับโครงการ-รื้อกม.

          สำหรับทางออก นายธีรศักดิ์ พานิชย์วิทย์ อดีตเลขาธิการ สมาคมองค์การบริหารส่งตำบลแห่งประเทศไทย ระบุว่านับตั้งแต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับใช้ในทางปฎิบัติจนถึงปัจุบัน ยังไม่สามารถใช้กฎหมายได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจาก เกิดสถานการณ์โควิดรัฐบาลลดภาษีลง 90% ช่วยลดผลกระทบติดต่อกัน 2 ปี

          โดยพิจารณาจากข้อมูลคณะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า ปี 2563 ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีหรือไม่เกิน3.5หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เมื่อ ลดภาษีที่ดินลง90% รายได้ลดลงเหลือ กว่า3,000ล้านบาท และปี2564 ลดภาษีลง90%อีกปีมองว่ารายได้จะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา และต้องปรับลดเป้ารายได้ตัดงบโครงการลงทุนออกไป ขณะรัฐบาลใช้งบกลาง ปี2564  จำนวน1.1 หมื่นล้านบาท ชดเชยรายได้ท้องถิ่น 7,850 แห่งที่ขาดหายไป จากที่ท้องถิ่นมีหนังสือเสนอขอไป เต็มจำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาทและปีนี้ก็เช่นกันน่าจะได้รับชดเชยงบประมาณในปี2565

          นายธีรศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะข้อเท็จจริงท้องถิ่นไม่สามารถเก็บภาษีจากคนรวยที่กระจายถือครองที่ดbนได้ เพราะทุกรายเลี่ยงภาษีรกร้าง 0.3% ไปทำเกษตรกรรมส่งผลให้ท้องถิ่นขาดรายได้ หากกฎหมายไม่สามารถ ปฏบัติได้จริง และเกิดผลเสียมากกว่าผลดีรัฐบาลควรนำภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนมาใช้ตามเดิม หรือแก้ไขปรับปรุงภาษีที่ดินใหม่ให้รัดกุมจะส่งผลดีกว่า

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button