ไฮสปีด โคราช-หนองคาย เร่งชง ครม. อนุมัติปีหน้า

25 Dec 2020 667 0

          ร.ฟ.ท.ลุยไฮสปีดไทย-จีนระยะที่ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย เล็งชง ครม.อนุมัติดำเนินโครงการ ปีหน้า ก่อนเปิดประกวดราคาและ เริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2565 ประเมินวงเงินลงทุน 2.5 แสนล้านบาท สร้างทางเพิ่ม 356 กิโลเมตร

          รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.วางแผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงนครราชสีมา (โคราช)-หนองคาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความ ร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยปัจจุบันได้ดำเนินการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-25 ธ.ค. 2563

          อย่างไรก็ดี ตามแผนดำเนินงาน ร.ฟ.ท.กำหนดภายหลังศึกษาโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในปี 2564 หลังจากนั้นจะดำเนินการประกวดราคา สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาในปี 2565 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน จากนั้น เริ่มงานติดตั้งระบบในปี 2566 ใช้ ระยะเวลาการดำเนินการ 66 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572

          สำหรับโครงการไฮสปีดเทรนช่วงโคราช-หนองคาย มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.5 แสนล้านบาท โดย ขณะนี้ได้ข้อสรุปส่วนของแนวก่อสร้างที่กำหนดเป็นทางรถไฟระดับพื้น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และเป็นทางรถไฟยกระดับระยะทาง 171 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร อีกทั้งจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟ 5 สถานี ประกอบด้วยสถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่งบริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่นาทา จ.หนองคาย

          อีกทั้งยังมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย มีจุดย่านกองเก็บ ตู้สินค้า (Container Yard) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่ง ที่นาทา จ.หนองคาย โดยไฮสปีดเทรนสายนี้จะใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          รายงานข่าวยังระบุด้วยว่าจากการศึกษาในเบื้องต้น ผลการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการพัฒนาเฉพาะช่วงนครราชสีมา-หนองคาย พบว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าโดยคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 11.24% ส่วนผลวิเคราะห์ความเหมาะสมการพัฒนาทั้ง 2 ระยะ (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) คิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.10% โดยประโยชน์ที่ คาดว่าจะได้รับ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางในพื้นที่อย่างสะดวกแล้ว ยังลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงหนองคายใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที ผลักดันภาคการขนส่งและการส่งออกอีกด้วย

          สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้กำหนด 5 รูปแบบ ประกอบไปด้วย 1.สะพานรถไฟ จำนวน 120 แห่ง 2.สะพานรถยนต์ จำนวน 25 แห่ง ใช้ในกรณีที่จุดตัดถนนสายหลักมีปริมาณการจราจรค่อนข้างมาก 3.สะพานกลับรถรูปตัวยู จำนวน 23 แห่ง 4.ทางลอดรถไฟ จำนวน 84 แห่ง และ 5.ทางบริการ จำนวน 3 แห่ง

          ทั้งนี้ ขอบเขตการดำเนินงานโครงการในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 6 ช่วง เช่น เริ่มงานออกแบบรายละเอียดงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและ เครื่องกลฯ งานจัดการประกวดราคา งานสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ หลังการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button