อสังหาหวั่นกำลังซื้อจมดิ่ง ลุ้นมาตรการรัฐพยุงตลาด
หวั่นล็อกดาวน์สมุทรสาครดับฝันอสังหาฯฟื้นตัวในปี 2564 เป้าตลาดรวมโต 5-10% อาจไปไม่ถึง “คอลลิเออร์สฯ” ชี้ไม่มีโควิดรอบใหม่ คอนโดฯ เขตกรุงเทพฯก็อ่วมอยู่แล้ว แนวโน้มตลาดติดลบ 20% ฟาก “AREAศูนย์ข้อมูลฯ” ชี้ปีหน้าตลาดทรงตัว นายกอสังหาฯสมุทรสาครเชื่อมั่น รัฐบาลคุมเกมอยู่หมัด ลุ้นมาตรการรัฐ-ดอกเบี้ยต่ำตัวช่วยพยุงตลาด
คอนโดฯกรุงเทพฯติดลบ -20%
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผลกระทบสถานการณ์โควิดทำให้มองแนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ มีการเปิดตัวใหม่ลดลง -56% ตกต่ำสุดในรอบ 30 ปี เหลือ 20,000 กว่าหน่วย ขณะที่แนวโน้มปี 2564 ยังเป็นขาลงคาดว่าลดลง -10% ถึง -20% จากปีนี้
เหตุผลเพราะ 1.ตลาดต่างชาติยังกลับมาไม่ได้ 2.ซัพพลายคงค้างยังมีจำนวนมาก ดังนั้น โอกาสที่สินค้าคอนโดฯ จะฟี้นตัวได้อีกครั้ง ต้องรอปี 2565
ล็อกดาวน์เปลี่ยนเทรนด์
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถิติปี 2562 มีจำนวนหน่วยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล 118,975 หน่วย ผลกระทบจาก มาตรการล็อกดาวน์ช่วงไตรมาส 2/63-3/63 เคยคาดการณ์ ณ กลางปี 2563 ว่า โครงการเปิดใหม่ในปี 2563 ทั้งปีน่าจะมีเพียง 60,056 หน่วย ลดลง 50%
อย่างไรก็ตาม ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 มีการเร่งเปิดโครงการใหม่อย่างคึกคักจากผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงปรับคาดการณ์ว่าจำนวนหน่วยเปิดใหม่ทั้งปี 2563 น่าจะลดลงเพียง 20% จำนวน 84,258 หน่วย และคาดว่าปี 2564 น่าจะเติบโต 13-15% จำนวน 95,000 หน่วย
ล่าสุดการล็อกดาวน์สมุทรสาครส่งสัญญาณสถานการณ์โควิดกลับมาปะทุอีกรอบ อาจทำให้การเปิดตัวโครงการลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยปรับตัวเลขโครงการเปิดใหม่เหลือ 90,000 หน่วย หรือเติบโต 0-7%
ลุ้นมาตรการรัฐอุ้มอีก 1 ปี
นายวรยุทธ กิตติอุดม อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์สมุทรสาครอาจส่งผลกระทบทำให้ปี 2564 อัตราเติบโตไม่ดีอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะโตได้ ถ้ารัฐบาลควบคุมปัญหาได้รวดเร็ว เพราะยังมีกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าซึ่งต้องการบ้านในปีนี้ แต่รอความพร้อมในปีหน้า บวกกับปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก รวมทั้งมาตรการรัฐในการกระตุ้นอสังหาฯ อาทิ ลดค่าโอน-จดจำนองจาก 3% เหลือ 0.01% ซึ่งกำลังลุ้นว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุมาตรการให้อีก 1 ปี
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. กล่าวว่า เบื้องต้นผลกระทบน่าจะเป็นเรื่องกำลังซื้ออสังหาฯ เพราะปีนี้ก็เผชิญเรื่องยอดปฏิเสธสินเชื่อในอัตราสูง
”ผมเชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนอันหนึ่ง เทรนด์ปีหน้าอสังหาฯจะโต 5-10% เรามอนิเตอร์อยู่ ยังไม่ได้ปรับลด และอยากจะเรียนว่าไม่อยากให้ panic เพราะถ้ารัฐบาลคุมโควิดอยู่ คนเริ่มกล้าใช้เงินมากขึ้น รัฐบาลก็มีประสบการณ์รับมือโควิดน่าจะควบคุมได้เร็ว ให้เวลารัฐบาลทำงานก่อน ผู้ประกอบการต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิด ปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมแผนสำรองหรือแผน 2 สำหรับเป็นทางถอยไว้ด้วย เพราะเราไม่รู้สถานการณ์จะพัฒนาไปในทางบวกหรือทางลบ”
ดร.วิชัยกล่าวด้วยว่า โจทย์ยากในปี 2564 คือ 1.กำลังซื้ออสังหาฯจะกลับมาเมื่อไหร่ เพราะไม่สามารถพึ่งลูกค้าต่างชาติ 2.กำลังซื้อไม่แข็งแรง ควรมีมาตรการรัฐออกมาสนับสนุนเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ 3.ผู้ประกอบการต้องลงทุนโดยวิเคราะห์โครงการ ทำเล ขนาดโครงการละเอียดถี่ยิบ
นายกสมุทรสาครยังเชื่อมั่น
นายวีระกิตติ์ เอกอัครวิจิตร นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์สมุทรสาคร กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2563 ธุรกิจอสังหาฯมีประสบการณ์รับผลกระทบสถานการณ์โควิดมาแล้ว เทรนด์ปีหน้าซึ่งมองว่าน่าจะมีสัญญาณฟี้นตัว แต่มาเจอมาตรการล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร ยอมรับว่าช่วงแรกทำให้คนตกใจบ้างเป็นธรรมดา แต่ผลกระทบยังไม่ชัดเจนเพราะยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลควบคุมได้เร็ว ดังนั้น ต้องรอมอนิเตอร์ตลาดอสังหาฯปีหน้าอีกครั้ง หลังวันที่ 3 มกราคม 2564 คำตอบจะชัดเจนกว่านี้
”ล็อกดาวน์ครั้งแรกสมุทรสาครมีการจัดเตรียมโรงพยาบาลภาคสนาม 1,000 เตียงด้วยซ้ำไป รอบนี้เพิ่งทำ 100 เตียง แสดงว่ารัฐบาลสามารถรับมือโควิดได้แน่นอน ซึ่งผมไม่ได้มองอนาคตแล้วเห็นแต่ทุ่งลาเวนเดอร์ ผมยอมรับความจริงว่ามีผลกระทบบ้าง แต่ไม่น่ารุนแรงมากนัก อาจเป็นเพราะสมุทรสาครมีขนาดตลาดเล็กที่สุดใน 5 จังหวัดปริมณฑล ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นทุนท้องถิ่นที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูง เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามาก็พร้อมจะชะลอโครงการ เน้นเก็บเงินสดใช้หมุนเวียนในธุรกิจเป็นหลัก” นายวีระกิตติ์กล่าว
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ