ธปท.อุ้มหุ้นกู้3.6ล้านล้าน

08 Apr 2020 740 0

          ตั้งกองทุน 4 แสนล้าน

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนวงเงินรวมไม่เกิน 4 แสนล้านบาท จะเป็นมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไทย เนื่องจากปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก โดยมีมูลค่าคงค้างในระบบสูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของจีดีพีประเทศ และเป็นตลาดที่มีความผันผวนสูงเมื่อเศรษฐกิจถูกผลกระทบ โดยเฉพาะเวลาที่นักลงทุนกังวลต่อสภาพคล่อง ซึ่งเห็นชัด จากขณะนี้ที่ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศถูกกระทบ ก็ลามมากระทบต่อเนื่องต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

          ฉะนั้นมาตรการดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก็บใส่กระเป๋าไว้พร้อมใช้ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เปรียบเสมือนมาตรการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของสาธารณสุข ซึ่งเป็นมาตรการที่มาเพิ่มเติมจากกลไกหลัก แต่หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็จะดีที่สุด

          โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ ธปท.ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้ภาคเอกชน 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็น “แหล่งเงินสำรอง” เวลาที่ตลาดบาง (สภาพคล่องจำกัด) ทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ บริษัทที่มีความมั่นคงอาจจะไม่สามารถออกตราสารหนี้ได้  กองทุนดังกล่าวจะเข้าไปช่วยเติมเต็ม โดยมีเงื่อนไขสำหรับบริษัทที่จะมาใช้เงินของกองทุนนี้ ต้องมีการระดมทุนจากตลาดปกติ หรือไปหาวงเงินสินเชื่อใหม่จากธนาคารก่อน และจะต้องมีเงินของเจ้าของกิจการมาลงทุนด้วย โดยส่วนที่ขาดที่เป็นส่วนน้อยถึงจะมาขอความช่วยเหลือจากกองทุนนี้ โดยมาตรการนี้จะช่วยเหลือครอบคลุมปี 2563-2564

          “เราให้ความสำคัญมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก ถ้าตลาดการเงิน ใดไม่สามารถทำหน้าที่ได้ก็อาจจะส่งผลข้างเคียงเป็นลูกโซ่ไปสู่ตลาดการเงินอื่นและระบบการเงินโดยรวมได้”

          หุ้นกู้ครบดีลปีนี้ 6.25 แสนล้าน

          นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 พบว่ามีตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ที่จะครบกำหนดชำระและจะต้องต่ออายุ (roll over) มูลค่ารวม 6.25 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ตราสารหนี้ระดับลงทุน (investment grade bond) 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตราสารระยะยาว กว่า 4 แสนล้านบาท และระยะสั้น 2 แสนล้านบาท

          ส่วน 2.ตราสารหนี้ต่ำกว่าระดับลงทุน (nonrated bond) มูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตราสารระยะยาว 2.3 หมื่นล้านบาท และระยะสั้น 2 พันล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ จากมาตรการของ ธปท. อีกทั้งในช่วง ที่ผ่านมานักลงทุนเข้ามาลงทุนใน ตราสารหนี้น็อนเรตสูงขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงตามความเสี่ยงในภาวะดอกเบี้ยขาลง

          โดยพบว่าอุตสาหกรรมที่มีการออก nonrated bond ระยะยาว สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท พลังงาน 3.6 พันล้านบาท และท่องเที่ยว 2.7 พันล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นพบว่ากระจายตัวอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กรณีบริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่มีเรตติ้ง ต่ำกว่าระดับลงทุน เชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบซอฟต์โลนจาก ธปท.ที่ให้แก่บริษัทเอกชนเพื่อไปเสริมสภาพคล่องแทน

          “กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ถือว่ามี ความเสี่ยง เพราะได้รับแรงกดดันตั้งแต่ประเด็นควบคุมสินเชื่อผ่านมาตรการ LTV ตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงปีนี้ก็ยังเผชิญกับความต้องการซื้อที่ต่ำซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าแบงก์ชาติก็น่าจะเห็นตัวเลขส่วนนี้ เหมือนกัน จึงมีการออกมาตรการออกมาช่วยเหลือ” นายณัฐพลกล่าว

          อสังหาระทึกครบดีล 8 หมื่นล้าน

          ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เฉพาะในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ปีนี้ จะมีหุ้นกู้เอกชนครบดีลทั้งสิ้นราว 1.85 แสนล้านบาท โดยเซ็กเตอร์ที่มีหุ้นกู้ครบดีล มากที่สุด ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจการเงิน ทั้งแบงก์ ไฟแนนซ์ และลีสซิ่ง รวมกันกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ถัดมาเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ-โรงแรมกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท กลุ่มเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และพลังงาน 2,599 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกลุ่มอื่น ๆ เกือบ 2 หมื่นล้านบาท

          “ถ้าดูตามเงื่อนไข ธปท. ที่จะดูแลหุ้นกู้เกรดคุณภาพขึ้นไป ก็น่าจะหมายถึงหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งตั้งแต่ BBB ขึ้นไป จนถึง AAA ซึ่งพบว่า จะครบดีลในช่วงไตรมาส 2 นี้ รวมทั้งสิ้นกว่า 1.44 แสนล้านบาท คิดเป็น 77% ของหุ้นกู้ที่ครบดีลช่วงนี้ทั้งหมด ดังนั้น ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดได้ว่าจะมีคนดูแล ซึ่งเมื่อตลาดมีความเชื่อมั่นเงินที่ตั้งไว้ก็อาจจะไม่ได้ใช้” นายนริศกล่าว

          อย่างไรก็ดี หุ้นกู้อีก 23% ที่จะครบดีลในไตรมาส 2 นี้ หรือกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นหุ้นกู้ nonrated โดยส่วนใหญ่อยู่ในเซ็กเตอร์อสังหาฯกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท รองลงมาเซ็กเตอร์บริการเกือบ ๆ 1 หมื่นล้านบาท จึงต้องจับตาความเสี่ยงของกลุ่มนี้

          เทรนด์ตลาดหุ้นกู้ขาลง

          นายนริศกล่าวด้วยว่า เนื่องจากปัจจุบัน corporate spread หรือส่วนต่าง อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่เทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นสูงมาก สะท้อนว่าตลาดมองการออกหุ้นกู้มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันบอนด์รัฐบาลอายุ 5 ปี ผลตอบแทน อยู่ที่ 0.97% ดังนั้นหากเอกชนจะออกหุ้นกู้เกรด BBB ก็จะต้องให้ผลตอบแทนถึง 4%

          “corporate spread ปรับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าช่วงปี 2551-2552 ที่มีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจสูง ดังนั้นแนวโน้ม ต่อไปนี้ คิดว่ากลุ่มบริษัทที่เคยออกหุ้นกู้ nonrated ก็คงจะไม่ออก หรือออกน้อยลง รวมถึงภาพรวมทั้งตลาด ก็น่าจะหันไปกู้แบงก์กันมากขึ้น เพราะต้นทุนไม่ต่างกันมาก บริษัทเป็นลูกค้าอยู่กับแบงก์ไหนก็คงไปกู้แบงก์นั้น เพราะมีหลักประกันวางไว้อยู่แล้ว” นายนริศกล่าว

          เม.ย.เดือนเดียว 1.2 แสนล้าน

          แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนเปิดเผยว่า ในภาวะที่ทุกคนกำลังประสบกับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการ “ถือเงินสด” เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของภาคธุรกิจจะรุนแรงมากขึ้น เพราะทำให้โอกาสของภาคธุรกิจในการระดมทุน ออกหุ้นกู้เพื่อ roll over ที่จะครบดีลเป็นได้ด้วยความยากลำบาก  เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดลดลงในทุกทิศทุกทาง ดังนั้นเพื่อพยุงให้ธุรกิจไม่ผิดนัดชำระ ทางแบงก์ชาติมีมาตรการตั้งกองทุนเข้ามาซื้อหุ้นกู้ในส่วนที่ภาคเอกชน ไม่สามารถขายได้หมด

          เนื่องจากที่ผ่านมาภาคธุรกิจหันมาใช้การระดมทุนออก “หุ้นกู้” มากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าการกู้แบงก์ แต่จากภาวะวิกฤตครั้งนี้ทำให้สถานการณ์พลิกผัน

          หวั่นรายย่อยเทฉุดสภาพคล่อง

          แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ไม่ค่อยดีนัก แม้ว่า ธปท.จะตั้งกองทุนไว้รับซื้อกรณีที่บริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ roll over มาในช่วงนี้แล้วขายไม่หมดก็ตาม เนื่องจากหุ้นกู้ในตลาดปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งระดับต่ำกว่า “A-” ที่นักลงทุนสถาบันรับซื้อ ที่ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกู้ระดับ “BBB” ที่สำคัญคือหุ้นกู้เหล่านี้ อยู่ในมือรายย่อยเป็นหลัก หากรายย่อยกังวลในตัวบริษัท หรือไม่เชื่อมั่น ก็อาจจะไม่ซื้อหุ้นกู้อีก

          “ที่น่าเป็นห่วงคือหุ้นกู้เกรดที่สถาบันไม่ลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ก่อนหน้านี้ออกกันมาเยอะ สิ่งที่น่ากลัวคือ ส่วนใหญ่อยู่ในมือรายย่อย ถ้ารายย่อยแห่ขายทิ้งหรือไม่ซื้อต่อจะทำอย่างไร หรืออย่างหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ปีนี้จะครบดีลร่วมหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินของรัฐ และรายย่อย ที่ถืออยู่ จึงค่อนข้างน่ากังวลว่าพอครบกำหนดแล้วรายย่อยจะซื้อต่อหรือไม่ ซึ่งหากขายไม่หมดรัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินเข้าไปรับซื้อสัดส่วน 20% แรกก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

          บริษัทใหญ่ปรับแผน “กู้แบงก์”

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ภาวะปัจจุบันพบว่าบริษัทเอกชนที่หุ้นกู้ใกล้ครบกำหนด หลาย ๆ รายหันไปขอเงินกู้แบงก์ เตรียมไว้ อย่างเช่น บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่เพิ่งขอกู้จากธนาคารออมสิน รวม ๆ กันราว 4,500 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่มีเครดิตดี มีหลักประกัน ในการขอกู้แบงก์ก็ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นบริษัทที่เครดิตไม่ดีก็น่าจะลำบาก เพราะแบงก์อาจจะไม่กล้าปล่อยกู้

          จากเดิมที่ภาคธุรกิจเน้นระดมทุนขายหุ้นกู้กับประชาชน ซึ่งต้นทุนต่ำกว่ากู้แบงก์ แต่สถานการณ์ตอนนี้โอกาสการระดมทุนจากประชาชนยากมาก เพราะไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ เกรงว่าจะมีปัญหาทางธุรกิจจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ โดยเฉพาะบริษัทที่เครดิตเรตติ้งไม่ดี ดังนั้นทุกคนต้องการเก็บเงินสดไว้แทน”

          “ตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ต้องวิ่งไปหา เงินกู้จากแบงก์กันแล้ว แต่ถ้าใครเครดิตไม่ดี ก็ไม่มีทางได้” แหล่งข่าวกล่าว

          ”ทีจี” หุ้นกู้ครบดีล 9 พันล้าน

          นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2563 บมจ.การบินไทย มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระ 9,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะส่งผล ต่อสภาพคล่องของบริษัท เนื่องจาก บริษัทได้ประกาศหยุดบินเป็นเวลา 2 เดือน (เม.ย.-พ.ค. 63) ส่งผลให้บริษัท ไม่มีรายได้ระหว่างหยุดบิน และนอกจากหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 9,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีหนี้สินอื่น ๆ อีก 16,000 ล้านบาท

          โดยสิ้นปี 2562 การบินไทยมีเงินสดในมือประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้สำหรับการดำเนินงานในระหว่างปี 2563 ราว 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินสดเหลือเพียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับการชำระหนี้ เพราะนอกจากหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 9,000 ล้านบาทแล้ว การบินไทยยังมีหนี้สินอื่น ๆ อีก 16,000 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เกิดขึ้นไม่น่าเป็นห่วง มากนัก เนื่องจากกระทรวงการคลังยืนยันจะค้ำประกันเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้แก่การบินไทย

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button