แบม ปั้นรายได้โต10% ลุย ซื้อหนี้ - ธุรกิจใหม่

18 Nov 2020 576 0

          “แบม” ตั้งเป้าดันรายได้ และกำไรโตปีละ 5-10% ลุยซื้อหนี้เสียเพิ่ม 1.5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าปั้นธุรกิจใหม่โยงอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 4 มีสัญญาณฟื้น

          นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดในปัจจุบัน มีสินเชื่อในระบบ 16.5 ล้านล้านบาท โดย เป็นกลุ่มที่พักชำระหนี้ 6.7 ล้านล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีกลุ่มพักชำระหนี้ ราว 20% หรือ 1.34 ล้านล้านบาท ที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ และเมื่อรวมกับหนี้เสียในระบบทั้งหมด 5.09 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้เสียในระบบคาดว่าเพิ่มเป็น 1.84 ล้านล้านบาทในปีหน้า จึงเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าซื้อหนี้มาบริหารได้เพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยหนุนต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564

          บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไร ปี 2564 เติบโต 5-10% จากปี 2563 เพราะแนวโน้มของการขายทรัพย์ เอ็นพีเอได้เพิ่มขึ้น และเตรียมซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนที่บริษัทวางไว้ หลังจากที่ปี 2563 บริษัทซื้อหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท

          ขณะเดียวกันบริษัทยังคงแผน 5 ปี (2564-2568) โดยวางแผนต่อยอดธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อต่อยอดรายได้ให้กับบริษัทในธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และสร้างรายได้ประจำเข้ามาให้กับบริษัทด้วย ซึ่งจะเป็นลักษณะการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆที่บริษัทจะต่อยอด นอกจากนี้ ในอนาคตจะขยายไปสู่ธุรกิจโบรกเกอร์ขายอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อทำให้ธุรกิจแบมมีความหลากหลายมากขึ้น

          พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการมองหาและเจรจากับพันธมิตรกลุ่ม โรงพยาบาลเพื่อร่วมทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับ บ้านผู้สูงอายุ โครงการ The DeVal จังหวัดนครนายก โดยบริษัทจะเป็น ผู้ลงทุนในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพันธมิตรจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริการทางการแพทย์เข้ามาเสริมในการบริหารโครงการ

          ส่วนผลการดำเนินงานปีนี้ นายบรรยง ยอมรับว่ารายได้และกำไรจะลดลงจากปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ภาพรวมของไตรมาส 4 ของปีนี้ จะเห็นการพลิกฟื้นกลับมาจากไตรมาส 3 เพราะไตรมาส 4 บริษัทสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเก็บเงินจากลูกหนี้ ทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น และลูกค้ามีการซื้อทรัพย์เอ็นพีเอ เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2564

          อย่างไรก็ตามประเด็นที่บริษัท มีผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นสินทรัพย์ในงบการเงิน คาดว่าจะมีการบันทึกผลประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวเข้ามาในงบการเงิน ไตรมาส 4 ปี 2563 นอกจากจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงาน แต่ทำให้บริษัทมีความสามารถในการซื้อหนี้เข้ามา บริหารในปีหน้าได้ตามแผน เพราะอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลง

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button