CPเฟ้นแหล่งเงินบริหารต้นทุนไฮสปีด

16 Nov 2020 1,014 0

          ”ศุภชัย เจียรวนนท์” บิ๊ก ซี.พี. อัพเดตความคืบหน้าลงทุนรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา” มูลค่า 2.24 แสนล้าน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ยันโครงการเดินหน้าตามแผน ตามสัญญา คู่ขนานรอรัฐส่งมอบพื้นที่ ทั้งออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง เจรจาเงินกู้ เผยแบงก์ในประเทศและต่างประเทศรุมจีบ ให้อัตราดอกเบี้ยถูก ปล่อยกู้ระยะยาว 30 ปี ยอมรับขอขยับ ตำแหน่งสถานีใหม่ แต่ขออุบพิกัด หวั่นส่งผลต่อราคาที่ดิน วงในแย้มย้ายแน่ 3 สถานี ฉะเชิงเทรา พัทยา ศรีราชา ลากเข้าเมืองใหม่ สร้างระบบ ฟีดเดอร์เชื่อมการเดินทาง ด้าน ร.ฟ.ท. เร่งเวนคืน เคลียร์รื้อย้าย ลุยตอกเข็ม ต.ค. 64 เฟสแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เซ็นสัญญาร่วมทุน (PPP) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินโครงการ 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี กับ บจ.รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ภายใต้การนำของกลุ่ม ซี.พี. ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าโครงการ

          เดินหน้าตามแผน-สัญญา

          นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน คณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการ ตามแผนงาน ตามสัญญา ทุกด้าน คู่ขนานกันไป ทั้งการออกแบบรายละเอียด ก่อสร้าง การจัดหาแหล่งเงินลงทุนโครงการ และการรอส่งมอบพื้นที่จากภาครัฐ

          “การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หยุดไม่ได้ แต่เราต้องสร้างเงื่อนไข จะบริหารความเสี่ยงอย่างไร ลดต้นทุนทางการเงินอย่างไร โดยเงินลงทุนโครงการขณะนี้ได้มีการหารือกับธนาคารหลายแห่ง โดยเป็นธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจในต่างประเทศ และธนาคารในประเทศก็ให้ความสนใจโครงการนี้”

          นายศุภชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่เรามองเป็นการเฉพาะคือ อัตราดอกเบี้ยถูก เพราะต้องชำระคืนเงินกู้ระยะยาว 30 ปีขึ้นไป โดยมี หลายแห่งที่เสนอดอกเบี้ยเงินกู้ ค่อนข้างถูก ให้การสนับสนุนพอสมควร โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแหล่งไหนมีเงื่อนไขดีก็ต้องดู เพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งหากไปกู้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปอาจจะยาก เพราะด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สำคัญ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และรัฐบาลไทยต้องช่วยสนับสนุนด้วย

          “ตอนนี้ยังไม่ถึงจังหวะการกู้เงิน เราต้องเร่งการออกแบบ รายละเอียดและการเวนคืนที่ดินที่รัฐต้องเคลียร์ให้จบก่อน”

          ขอขยับตำแหน่งสถานี

          เมื่อถามถึงการขอเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง นายศุภชัยกล่าวยอมรับว่า อยู่ระหว่างขอปรับตำแหน่งใหม่ ซึ่งได้มีการเลือกไว้หลาย ๆ จุด แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนบ้าง ขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาก่อน เนื่องจากจะกระทบกับการเวนคืนที่ดินและการส่งมอบพื้นที่

          ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายศุภชัยเคยระบุว่า สำหรับแหล่งเงินกู้ที่จะใช้ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับต่างประเทศมีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) กับ China Development Bank (CDB)

          “ภาคเอกชนกลัวที่สุดคือ ความเสี่ยงร่วมลงทุนใช้เงินกว่าแสนล้าน ถ้าทำแล้วขาดทุนจะไม่ใช่แค่แสนล้าน ทุกปีที่ขาดทุนต้องระดมทุนเข้าไป เรื่องนี้เราศึกษาอย่างละเอียดก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้สำเร็จได้ โครงการนี้เป็น PPP โครงการแรกที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ และจากความยืดหยุ่นต่าง ๆ จะเป็นโครงการนำร่องไปยังโครงการอื่น ๆ”

          ย้ายแน่ 3 สถานี

          มีรายงานข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.ว่า สำหรับการย้ายตำแหน่งสถานีใหม่นั้น ในเงื่อนไขสัญญาสามารถให้เอกชนปรับตำแหน่งได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการ แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด รวมถึงการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

          ล่าสุดทาง ซี.พี.ได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า จะย้าย 3 สถานี ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา ไปทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำบางปะกง และสร้างฟีดเดอร์มา รองรับการเดินทางเข้าเส้นทางหลัก แต่มีบางกระแสระบุว่า ไปทางบ้านโพธิ์ และพื้นที่รอยต่อระหว่างหนองจอกกับถนนสุวินทวงศ์

          ขณะที่สถานีพัทยา ขยับลงมาอยู่ที่สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ใกล้ตลาดน้ำ 4 ภาค และสวนนงนุช ที่ ซี.พี.มีที่ดินอยู่ประมาณ 600 ไร่ และสถานีศรีราชา ซึ่ง ร.ฟ.ท. ให้พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD ) จำนวน 25 ไร่ แต่ไม่เพียงพอ อาจจะขยับห่างไปจากสถานีเดิมเพื่อให้พัฒนาได้มากขึ้น

          “ซี.พี.ไม่ได้แจ้งชัดว่าที่ดินจะสร้างสถานีใหม่นั้นเป็นที่ดินมีอยู่แล้วในมือ หรือต้องซื้อเพิ่มเติม แต่ต้องเร่งสรุปและเสนอให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาภายในกลางเดือน พ.ย.นี้ เพื่อภาครัฐจะได้ตัดสินใจเรื่องการเวนคืนที่ดินที่เตรียมการไว้แล้วก่อนหน้านี้ เพราะหากย้ายไปที่ใหม่จะได้ไม่ต้องมีการเวนคืนเพิ่ม”

          ทำ EIA เพิ่มเติม-ขยายเวลาเพิ่ม

          รายงานข่าวกล่าวอีกว่า การที่ ซี.พี.ต้องการขยับตำแหน่งสถานีใหม่ เนื่องจากต้องการพื้นที่โดยรอบสถานีพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ แต่เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่โดยรอบสถานีตามแนวเดิม ส่วนใหญ่มีการกว้านซื้อที่ดินไปหมดแล้ว ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่และนักพัฒนาที่ดิน อีกทั้งราคาซื้อขายที่ดินมีการปรับขึ้นสูงมาก

          “การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีใหม่จะต้องทำรายงาน EIA เพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาไม่ถึงปี แต่สามารถเดินหน้าก่อสร้างช่วงที่พร้อมและไม่ต้องทำ EIA ก่อนได้ ดังนั้นการเข้าพื้นที่ก่อสร้างในปี 2564 ก็ยังคงเหมือนเดิม แต่การก่อสร้างอาจจะเข้าเป็นช่วง ๆ และมีแนวโน้มอาจจะขยายเวลาก่อสร้างเพิ่ม ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ จากเดิมต้องแล้วเสร็จใน 5 ปี นับจาก ร.ฟ.ท.ออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง หรือ NTP และอาจจะกระทบต่อการเปิดบริการ จากเดิมช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะเปิดในปี 2569 และช่วงพญาไท-ดอนเมืองเปิดในปี 2571”

          ยังไม่สรุปงบฯเวนคืนเพิ่ม

          นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า คณะกรรมการประเมินราคาที่ดินเพื่อกำหนดค่าเวนคืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่ได้ข้อสรุป ที่ชัดเจนว่าจะของบฯเวนคืนเพิ่มขึ้น จากเดิม 3,570 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาทหรือไม่ เพราะการหารือร่วมกัน ยังไม่สามารถสรุปราคาประเมินที่ดิน ที่แน่นอนได้ จะมีการประชุมคณะกรรมการประเมินราคาที่ดินอีกครั้ง

          ส่วนจะกระทบการส่งมอบพื้นที่ หรือไม่นั้น ขณะนี้ถือว่ายังมีเวลาดำเนินการ เนื่องจากยังอยู่ในกรอบเวลา โดยเฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทางประมาณ 170 กม. แม้จะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่สามารถเร่งรัดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน นับจากวันลงนามเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 แต่ถือว่ายังอยู่ในกรอบเวลาสูงสุดที่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ คือ ภายใน 2 ปี หรือเดือน ต.ค. 2564

          อีก 2 ช่วงคือ พญาไท-ดอนเมือง 22 กม. และช่วงแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไทสุวรรณภูมิ) 28 กม. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยช่วงพญาไท-ดอนเมือง กำลังรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และ บมจ.ปตท. มีกำหนดส่งมอบเร็วสุดคือ 2 ปี 3 เดือน และช้าที่สุดไม่เกิน 4 ปี

          ขณะที่การส่งมอบโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ทางกลุ่ม ซี.พี.อยู่ระหว่างสำรวจโครงการ ซึ่งกรอบเวลากำหนดให้ จะต้องรับมอบโครงการไปบริหารภายใน 2 ปีนับแต่วันลงนาม หรือภายใน วันที่ 24 ต.ค. 2564 พร้อมกับจ่าย ค่าใช้สิทธิโครงการจำนวน 10,671 ล้านบาท

          “โครงการเดินหน้าตามแผน ตามสัญญาโครงสร้างพื้นฐานมันหยุดไม่ได้  แต่เราต้องมาบริหารความเสี่ยงและเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ได้”

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button