นายกฯลุย แหลมฉบัง เร่งลงทุนโปรเจคอีอีซี
การลงทุน โครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความคืบหน้าหลายโครงการ โดยโครงการที่ลงนามแล้ว คือ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออก 3.โครงการพัฒนา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3
ในขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือ แหลมฉบังเฟส 3 อยู่ขั้นตอนเตรียมประกาศผู้ชนะประมูลการร่วมลงทุน และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับการยืนยันว่า จะอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทาง ไปยังท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 1 ต.ค.2563 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการคมนาคมในอีอีซี ซึ่งในขณะนี้นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง
โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นโครงการขนาดใหญ่ของอีอีซีที่ยังเหลืออีก 1 โครงการที่ยังรอขั้นตอนการนำรายชื่อ การชนะการประมูลเข้าสู่คณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะไปติดตามความคืบหน้าโครงการนี้ด้วย
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี เป็นผู้ที่ผ่านเข้าสู่ ขั้นตอนการเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วยพันธมิตร 3 ราย คือ 1.บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือ ปตท. 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท China Harbour Engineering Company Limited (CHEC) จากจีน
ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แบ่งเป็นการลงทุนส่วนของรัฐ คือ งานก่อสร้าง ทางทะเล วงเงิน 21,979 ล้านบาท และงานก่อสร้าง อาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบ สาธรณูปโภค วงเงิน 6,502 ล้านบาท ในขณะที่ การร่วมลงทุนรัฐและเอกชน ครอบคลุมลานจอด วางตู้สินค้า วางเครนยกตู้สินค้า และวางระบบ การบริหารจัดการท่าเทียบเรือ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 1 ต.ค.2563 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งประชุมกับ นักลงทุนในพื้นที่ โดยจะเน้นการหารือ เรื่องการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็น ท่าเรือนานาชาติ รวมทั้งการเชื่อมโยง โครงการอีอีซีกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) ในอนาคต
สำหรับกำหนดการวันที่ 1 ต.ค. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบังในเวลา 09.30 น.และเข้าร่วม ประชุมกับผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังและภาคเอกชน เพื่อหารือการใช้ประโยชน์การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในโครงการต่างๆ ได้แก่ ท่าเรือบก (Dry Port) โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นผู้นำเสนอโครงการ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ของภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการขนส่งทางราง ที่อนาคตจะเป็นระบบโลจิสติกส์หลักของประเทศที่สำคัญ เพื่อส่งเสริม การขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และอีอีซี โดยมีการศึกษาพื้นที่ 4 พื้นที่ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา, อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา, อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์
รวมทั้ง มีการประเมินว่าวงเงินลงทุนท่าเรือบกทั้ง 4 แห่ง คาดว่าจะอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และวางระบบ 4 แห่ง 8,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแห่งละ 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนค่าเวนคืน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยพื้นที่พัฒนาท่าเรือบก ประเมินความเหมาะสมเบื้องต้น จะต้องใช้พื้นที่ แห่งละ 1,000-1,800 ไร่
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาท่าเรือบก สนข.ประเมินว่าจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ให้มีมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ราว 5.5% ของการขนส่งทั้งหมด จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของการขนส่งทั้งหมด ภายในปี 2566-2567 โดยหน้าที่หลักของท่าเรือบก จะตรวจปล่อยสินค้าเหมือนท่าเรือ
นอกจากนี้ สนข.จะชี้แจงบรรยายสรุปโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในการพัฒนาโครงการอีอีซี เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
หลังจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จะประชุมร่วมกับนักลงทุน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีวาระการประชุมในเรื่องแนวทาง การส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีในยุค New Normal โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ข้อมูลของโครงการ และ นายกรัฐมนตรีให้นโยบายการพัฒนาโครงการเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการต่อไป
รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ ท่าเทียบเรือ C0 ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา เพื่อเป็นประธานในการตรวจขบวน รถไฟฟ้าและรับมอบขบวนรถโมโนเรลสายสีเหลือง-ชมพู โครงการรถไฟฟ้า โมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ของการรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ทั้งนี้ ผู้ได้สิทธิร่วมลงทุน คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน ระยะเวลา ก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และมีระยะเวลา เดินรถ 30 ปี ซึ่งรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง จะทยอยเปิดให้บริการในปี 2564
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ