ดันรถไฟฟ้า แสนล้าน บูม7เมืองใหญ่
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนภูมิภาค จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และภูเก็ต ขณะที่ อีก 3 จังหวัดอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และสงขลา ไล่ตั้งแต่โครงการขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี วงเงินลงทุน 7,914.48 ล้านบาท มีความพร้อม มีลักษณะโครงสร้างแบบระดับพื้นดิน ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้า (Light Rail) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดรูปแบบการลงทุน PPP ในช่วงมิ.ย.63-ม.ค.64 หลังจากนั้นเตรียมคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ภายในเดือน มี.ค.-มี.ค.65 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนเม.ย.65-มิ.ย.68 ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในปี 68
ขณะที่โครงการขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก ช่วงมหาวิทยาลัยนเรศวร-เซ็นทรัลพิษณุโลก สายสีแดง เฟส1 ระยะทาง 12.6กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี วงเงินลงทุน 1,666.76 ล้านบาท มีลักษณะโครงสร้างแบบระดับพื้นดิน ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้า (Auto Tram) ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาแผนแม่บทของเส้นทางสายดังกล่าว โดยเลือกสายสีแดงเป็นเส้นทางที่สมควรดำเนินการเป็นเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจะดำเนินการขออนุมัติรูปแบบการลงทุน ในเดือน พ.ค.64-มี.ค.65 และเตรียมคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ภายในเดือน ก.ย.65-ก.ย.66 โดยจะก่อสร้างในเดือน ต.ค.66-พ.ย.69 ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในเดือน ธ.ค.69
นอกจากนี้โครงการขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี วงเงินลงทุน 35,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้า (LRT/Tram) ความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 หลังจากนั้นเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เห็นชอบ และเสนอต่อคณะกรรมการ PPP หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือน มี.ค. 68
สำหรับรูปแบบโครงการขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ นั้นเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน โดยแบ่งเป็นระบบ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี 2.สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกศรีบัวเงินพัฒนา 3.สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชคมีชัย-ท่าอากาศยานเชียงใหม่
ความคืบหน้าอยู่ระหว่าง ออกแบบ ศึกษาความเหมาะสมและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาตามแผนเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีประมาณกลางปี 2564 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางสะดวก รวดเร็วปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้
ขณะที่ผ่านมา รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนเอกชน พบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการและนักธุรกิจท้องถิ่นให้ความสนใจลงทุนโครงการนี้ เบื้องต้นมีกลุ่มธนาคารจากประเทศจีนที่สนใจสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศภาคเอกชน สนใจที่จะลงทุนในส่วนของซัพพลายเออร์และงานระบบ ส่วนด้านการเดินรถนักธุรกิจท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งคล้ายกับการเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ
นายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องศ์การบริหารบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนถึงแผนลงทุนระบบขนส่งทางรางในจังหวัดว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเชียงใหม่ประสบปัญหาด้านการจราจรหนาแน่นทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น เนื่องจากเป็นเมืองท่อง มีรายได้ ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี หากมีรถแทรมป์เข้ามาพัฒนาด้านขนส่งมวลชนสารธารณะ จะช่วยให้การเดินทางสำหรับประชาชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่มีความสะดวกมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
นายสมชาย เอื้อวงษ์วงษ์ชัย กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ กล่าวว่า หากโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่จะสมบูรณ์ได้ทั้งระบบนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งรัดโครงการดังกล่าวทั้ง 3 เส้นทางสามารถเดินหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเดียวกันทำให้ราคาที่ดินของภาคอสังหาฯ ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากที่ซบเซาในช่วงที่ผ่านมา
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ