เปิดจองคอนโด9.9แสนดบ.3% ธนารักษ์เร่งปั๊มรายได้เข้าคลัง
ธนารักษ์เปิดจอง “คอนโดฯข้าราชการ” 5 จังหวัด ดีเดย์ ส.ค.นี้ ยูนิตละ 999,999 บาท เงินเดือน 1.6 หมื่นซื้อได้ครองสิทธิ 30 ปี ครบ 5 ปี โอนเปลี่ยนมือได้ ดึง ธอส.ปล่อยกู้ ดบ.ไม่เกิน 3% เร่งปั๊ม รายได้ส่งคลัง ตั้งเป้าปีงบประมาณ 2563 ทะลุหมื่นล้าน ลุยจัดระเบียบ ที่ราชพัสดุ ต้อนรีสอร์ตเถื่อนเกาะเต่า-สวนผึ้ง-แหลมฟ้าผ่า ปักธงปีหน้ากวาดผู้บุกรุก 2.5 แสนรายเข้าระบบ
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน ส.ค. นี้กรมธนารักษ์และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะเปิดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีอยู่ทั้งสิ้นราว 4 แสนราย สามารถจองซื้อสิทธิการเช่าคอนโดมิเนียมข้าราชการ ที่จะก่อสร้างบนที่ราชพัสดุนำร่องใน 9 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ได้แก่ แถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่, ช่องนนทรี และสุขุมวิท 61, ในจังหวัดนนทบุรี 3 แห่ง ได้แก่ ในซอยวัดกู้, ตรงข้ามศาลากลาง จ.นนทบุรี และย่านอำเภอปากเกร็ด, ในจังหวัดนครราชสีมา 1 แห่ง, ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 แห่ง, และในจังหวัดขอนแก่นอีก 1 แห่ง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกรมได้สั่งการให้บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างบนที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ละแห่งเนื้อที่ราว 1 ไร่ ทำเลตั้งอยู่ในเมือง เดินทางสะดวก โดยก่อสร้างเป็นคอนโดฯ 7 ชั้น แต่ละ โครงการมี 76 ห้อง (ยูนิต)ห้องละไม่เกิน 40 ตารางเมตร ราคา 999,999 บาท
”คอนโดฯข้าราชการตกแล้วจะผ่อนเดือนละ 3,900 บาท ระยะเวลา 30 ปี โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้ให้สินเชื่อ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 3% ต่อปี ซึ่งพิจารณาแล้ว ข้าราชการที่มีเงินเดือน 16,000 บาท สามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเมื่อครบสัญญา ยังต่ออายุสัญญาได้อีก 30 ปี และสามารถโอนสิทธิได้ เมื่ออยู่ครบ 5 ปี แต่จะต้องโอนสิทธิให้เฉพาะข้าราชการด้วยกันเท่านั้น” นายยุทธนากล่าว
นอกจากนี้พื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งแรก กรมยังจะอยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมทั่วประเทศ เพื่อมาจัดทำโครงการ ดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย ขณะที่เฟส 2 อาจจะสร้างเป็นอาคารสูงประมาณ 20 ชั้น ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย แต่เฟสแรก ที่สร้างแค่ 7 ชั้น ไม่ต้องผ่าน EIA
”โครงการนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ก.พ. ที่อยากให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ หลังโควิด-19 ที่ใช้เป็นที่ทำงานได้ ซึ่งกรมได้หารือกับ ก.พ.แล้ว ว่าจะเริ่มทำที่ จ.นนทบุรีก่อน โดยนอกจากที่พักอาศัย จะมีเปิดพื้นที่ให้ส่วนราชการ เช่น หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย เข้ามาตั้งสำนักงานด้วย” นายยุทธนากล่าว
ขณะเดียวกันกรมยังเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย โดยวางเป้าหมายเปิดให้ผู้สูงวัยอายุ 58 ปีขึ้นไป เริ่มจองได้ภายในสิ้นปี 2563 นี้ เฟสแรก จำนวน 900 ยูนิต ราคาไม่เกิน 1.9 ล้านบาท พื้นที่ยูนิตละประมาณ 35 ตารางเมตร ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี เข้าอยู่ได้เมื่อผู้จองมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
จัดระเบียบที่ราชพัสดุดันรายได้
นายยุทธนากล่าวอีกว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 อย่างไรก็ดีในส่วนของกรมธนารักษ์คาดว่าจะนำส่งรายได้เข้ารัฐได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดระบบที่ราชพัสดุใหม่ โดยดึงพวกที่อยู่นอกระบบเข้ามาเช่า และจัดให้ผู้ที่มีการใช้ที่ราชพัสดุผิดวัตถุประสงค์ให้จ่ายค่าเช่าตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน
”ที่ราชพัสดุไม่ได้จัดให้เข้าระบบมานาน มีประชาชนที่เช่าเป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร ซึ่งคิดอัตราค่าเช่าต่ำ เช่น ที่อยู่อาศัยคิดอัตรา 25 สตางค์ต่อตารางวา เกษตร 100-200 บาท แต่ใช้ผิดประเภท กรมก็ต้องตามไปเก็บเข้ามาให้อยู่ในระบบ หรือบางพื้นที่มีการบุกรุก ก็ต้องจัดให้เข้าระบบ ก็จะทำให้รายได้ธนารักษ์เพิ่มขึ้น รวมถึงเมื่อเข้าระบบ ภาษีอื่น ๆ ก็จะเก็บได้เพิ่มด้วย” นายยุทธนากล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้จัดระบบที่ราชพัสดุที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ให้ถูกต้องแล้วกว่า 70% โดยกรมได้ตั้งทีมติดตามเข้าไปดูพื้นที่ที่มีการใช้ที่ราชพัสดุผิดประเภท เช่น เช่าเพื่อทำการเกษตร แต่กลับนำไปทำ รีสอร์ต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น จากที่เคยได้แค่ 200 บาท ก็อาจจะเป็น 1 หมื่นบาท” นายยุทธนากล่าว
นอกจากนี้กรมตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการบริหารที่ราชพัสดุ ทั้งในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ และเชิงสังคมเป็น 10% จากปัจจุบันยังมีสัดส่วนแค่ 4% จากที่ราชพัสดุทั่วประเทศ 12.5 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในมือส่วนราชการถึง 96%
”ปัจจุบันการเก็บรายได้ค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์จะมีประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากเราบริหารได้ดีขึ้นก็จะทำให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีงบประมาณ 2563 นี้ ผมก็คิดว่าเราน่าจะส่งรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ก็เช่นกัน แม้ว่าล่าสุดจะมีการปรับลดเป้าหมายจัดเก็บเหลืออยู่ที่ 8,200 ล้านบาทแล้วก็ตาม” นายยุทธนากล่าว
นายยุทธนากล่าวอีกว่า ในงบประมาณปี 2564 กรมจะเน้นโครงการธนารักษ์ประชารัฐ หรือการจัดเช่าที่ราชพัสดุ โดยเร่งจัดระเบียบที่มีการบุกรุกให้เข้าสู่ ระบบให้ได้ทั้งหมดทั่วประเทศ จากที่มีการ บุกรุกอยู่ทั้งสิ้นราว 2.5 แสนราย จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี เพราะทำได้แค่ปีละประมาณ 5,000-6,000 ราย
”อย่างเช่นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่เหลือรอเช่าอยู่อีก 3,500 ราย ก็ได้สั่งให้ธนารักษ์กาฬสินธุ์ไปดำเนินการให้เข้ามาอยู่ในระบบ ภายใน 6 เดือน ซึ่งในเดือน ส.ค.นี้ ก็ใกล้จะเสร็จทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 เชื่อว่าสามารถจัดให้เช่าได้มากกว่า 3 หมื่นราย ส่วนที่เหลืออีก 7 หมื่นรายน่าจะเสร็จทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะลดปัญหาการฟ้องร้องบุกรุกลงไปได้มาก” นายยุทธนากล่าว
แบ่งค่าเช่าสะดวกซื้อ-เสริมสวย
นายยุทธนากล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้ ส่วนราชการที่มีการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุ ดำเนินการให้ถูกต้อง เช่น กรณีมีการเปิดสถานเสริมความงามในโรงพยาบาล ปัจจุบันคิดว่ากว่า 90% เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้องแล้ว
ต้อน “รีสอร์ต” บุกรุกเข้าระบบ
ส่วนที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพ ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น จังหวัดกาญจนบุรีที่มีอยู่ราว 3 ล้านไร่ จังหวัดราชบุรีมีอยู่ 5 แสนไร่ ซึ่งพบว่าบางส่วนถูกบุกรุกอยู่ เช่น ที่ราชบุรี ถูกบุกรุกอยู่ราว 1.2-1.3 แสนไร่ ซึ่งได้ทำความตกลงกันแล้วจะมีการจัดให้เช่าให้ถูกต้อง
ด้านสวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบ คีรีขันธ์ ไปแล้ว ซึ่งทางกองทัพจ้างดุสิตธานีเข้ามาบริหาร และกรมธนารักษ์เก็บค่าเช่าจากผลประกอบการ 50% ส่วนสนามมวยลุมพินี เพราะเป็นช่วงโควิด ผลประกอบการไม่สะท้อนภาวะปกติ จึงอาจต้องใช้ผลประกอบการเฉลี่ย 3-5 ปี มาคิดอัตราค่าเช่า
ขณะที่ในอำเภอสวนผึ้ง ก็มีการใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ทำรีสอร์ต เป็นต้น ก็ต้องเข้าไปจัดการให้ถูกต้อง ตลอดจนที่ราชพัสดุบนเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแหลมฟ้าผ่า จังหวัดจันทบุรี
นอกจากนี้ยังมีที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ราชพัสดุที่ได้คืนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่กรมนำมาจัดให้เช่าไร่ละ 50 บาท เพื่อทำการเกษตร
ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่ราชพัสดุฉบับปรับปรุงใหม่ กรมธนารักษ์มีภารกิจที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุด้วย จากเดิมไม่ต้องจ่าย ทำให้ตอนนี้มีรัฐวิสาหกิจบางแห่งเริ่มมาหารือ เพื่อขอคืน ที่ราชพัสดุ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ขอคืนพื้นที่หลายแสนไร่ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การใช้ที่ราชพัสดุต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
สำหรับแนวคิดเรื่องค่าถือครองที่ดินนั้น อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวว่า จะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2564 จัดทำขึ้นเพื่อให้ส่วนราชการได้รับรู้ว่า ที่ดินราชพัสดุที่ครอบครองอยู่นั้น มีต้นทุนอย่างไร และใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ