รีเจ้นท์ โฮม ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ 7,000 ยูนิตหมื่นล้าน เจาะพนักงาน 'วัน แบงค็อก'
กางแผนธุรกิจปี 67 เจ้าพ่อคอนโดบีโอไอ “รีเจ้นท์โฮม” เดินหน้าปั้นโครงการต่อเนื่องปีละ 7,000-10,000 ยูนิต เล็งที่ดิน 20 ไร่ย่านถนนพระราม 4 ปั้นอีก 7,000 ห้อง มูลค่า 10,000 ล้าน รับพนักงาน-เจ้าหน้าที่ “วันแบงค็อก” เมกะโปรเจ็กต์ 1.2 แสนล้าน
นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ รีเจ้นท์โฮม เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2567 ว่า เบื้องต้นเตรียมพัฒนาโครงการใหม่ 4 โครงการ จำนวนรวมกว่า 4,000 ยูนิต ในทำเลวงศ์สว่าง ประมาณ 2,000 ยูนิต สุขุมวิท 93 ประมาณ 1,000 ยูนิต พหลโยธิน 52 ประมาณ 400 ยูนิต และสุขุมวิท 107 ซึ่งหากซื้อที่ดินเพิ่มได้จะพัฒนาต่อเนื่องให้ได้ปีละ 7,000-10,000 ยูนิต ซึ่งยังคงเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ทั้งรูปแบบอาคารสูงและอาคาร 8 ชั้น
ขณะเดียวกันมีโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างและกำลังจะแล้วเสร็จ ได้แก่ ทำเลบางนา จำนวน 5,000 ยูนิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ทำเลวุฒากาศ จำนวน 3,000 ยูนิต คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงต้นปีหน้า ทำเลธรรมศาสตร์รังสิต ประมาณ 700 ยูนิต นอกจากนี้ ยังวางแผนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการต่อเนื่อง ทั้งทำเลวุฒากาศ รังสิต หัวหมาก จากปัจจุบันรีเจนท์ โฮมพัฒนาโครงการมาแล้ว 40 โครงการ ประมาณ 40,000 ยูนิต
นายนิรัตน์ กล่าวว่า บริษัทวางงบประมาณซื้อที่ดินปีละ 5,000 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการ โดยยังคงเน้นทำเลในเมือง ตามแนวรถไฟฟ้ารัศมีไม่เกิน 500 เมตร ซึ่งปัจจุบันยังมีที่ดินเปล่า 100 ไร่ รอการพัฒนาประมาณโครงการได้ 20,000 ยูนิต หรือเฉลี่ยไร่ละ 200 ยูนิต อาทิ บริเวณหน้าโครงการรีเจ้นท์โฮมบางซ่อน จำนวน 11 ไร่ ติดสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีบางซ่อน ซึ่งเดิมวางแผนพัฒนาเป็นตลาด แต่เนื่องจากราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงไม่คุ้มค่าการลงทุน จึงวางแผนพัฒนาโครงการคอนโดในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการซื้อที่ดินจำนวน 20 ไร่ บนถนนพระราม 4 ใกล้รถไฟฟ้า BTS สถานีพระโขนง เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดจำนวน 6-7 อาคาร สูงประมาณ 35-36 ชั้น มูลค่าโครงการประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงปีหน้า และจะขายในระดับราคาห้องละ 1.5 ล้านบาท เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนจากการซื้อที่ดินราคาเฉลี่ยตารางวาละ 300,000 บาท โดยคาดว่าบีโอไอน่าจะมีการขยับเพดานราคาคอนโดที่เข้าเกณฑ์การส่งเสริมบีโอไอจากปัจจุบัน 1.2 ล้านบาทเป็น 1.5 ล้านบาทในเร็ว ๆ นี้ ทำให้โครงการดังกล่าวยังคงได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเช่นเดิม
”เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน และมีการขยับราคาไปที่ 1.5 ล้านบาท เพราะรัฐไม่ได้เสียอะไร อาจจะบอกว่ารัฐไม่ได้ภาษีจากกำไร แต่เฉพาะค่าโอนรัฐก็ได้แล้ว ระหว่างการก่อสร้าง รัฐก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาวัสดุ เมื่อผมทำเมื่อไร รัฐได้ภาษีตลอด แต่ถ้าผมไม่ทำรัฐก็ไม่ได้อะไร ที่สำคัญเราทำเพื่อดึงราคาไม่ให้ที่อยู่อาศัยมันโดไป เพราะชาวบ้านไม่มีกำลังซื้อ” นายนิรัตน์ กล่าวและว่า
สำหรับโครงการในทำเลพระราม 4 ถือว่าเป็นโครงการที่มีจำนวนยูนิตต่อโครงการมากที่สุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ พนักงานและเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในโครงการวัน แบงค็อก เมกะโปรเจ็กต์มูลค่า 120,000 ล้านบาท บนถนนพระราม 4 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนับหมื่นราย และเป็นกลุ่มพนักงานที่มีระดับรายได้ไม่น่าจะต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถซื้อโครงการรีเจ้นท์โฮมได้ทั้งหมด และผู้มีรายได้ดังกล่าวสามารถยื่นกู้ขอสินเชื่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้วงเงิน 1.5 ล้านบาท หากไม่มีภาระหนี้สินอื่น รวมถึงยังอาจจะมีกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาซื้อเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งเป็นกลุ่มฐานลูกค้าของบริษัทในสัดส่วนประมาณ 40% ต่อโครงการเข้ามาซื้อด้วย
นายนิรัตน์ กล่าวอีกว่า ไม่มีความกังวลต่อปัจจัยลบอสังหาฯ ในปีนี้ เพราะมองว่าโอกาสทางตลาดอสังหาฯ ยังมี หากผู้ประกอบการพัฒนาโครงการราคาไม่แพง ยังสามารถขายได้ต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันจะมีสินค้าอยู่ในตลาดมากกว่า 90,000 ยูนิต แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มระดับราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ หากกลุ่มนักลงทุนซื้อเพื่อปล่อยเช่า ต้องได้รับค่าเช่าในอัตรา 15,000-20,000 บาท ซึ่งจะหาผู้เช่าได้ยาก แต่สำหรับรีเจ้นท์โฮม ด้วยราคาห้อง 1.2 ล้านบาท สามารถนำมาปล่อยเช่าได้ในราคา 7,000 บาทต่อเดือน และมีผู้เช่าตลอดอย่างต่อเนื่อง
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ