ธปท.คลอดเกณฑ์ตั้งเอเอ็มซี
เปิดทางแบงก์รัฐจับมือเอกชนเคลียร์หนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) หลักเกณฑ์การดำเนินงาน ในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตั้งแต่วันนี้-15 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ค้างอยู่ในระบบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งมาจากเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญต่อประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน และมักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับผล กระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การตกลงราคาขายหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในภาวะปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ซึ่งทำให้การช่วยเหลือลูกหนี้ล่าช้า อาจส่งผลให้ปัญหาหนี้ของลูกหนี้เรื้อรังและกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระยะต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเครื่องมือเพิ่มเติมในการบริหารจัดการ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และคล่องตัว ยิ่งขึ้น ธปท.จึงส่งเสริมให้มีเครื่องมือผ่านการร่วมลงทุน (joint venture) ระหว่าง SFIs และบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นการชั่วคราว เพื่อรองรับ การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่คาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น
เงื่อนไขการร่วมทุนจะต้องมี SFIs อย่างน้อย 1 แห่ง และ AMC อย่างน้อย 1 แห่ง อาจจะมีบุคคลอื่นร่วมทุนด้วยก็ได้ โดยจะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งกิจการร่วม ทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้จะมีอายุการ ดำเนินงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลากิจการร่วมทุน จะดำเนินการชำระบัญชีและปิดกิจการร่วมทุน เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจาก ธปท.เป็นรายกรณี
สำหรับการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จะต้องเป็นสินเชื่อหรือธุรกรรมคล้ายสินเชื่อของ SFIs มีวงเงินรวมกับผู้ให้สินเชื่อเดิม ณ วันที่รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไม่เกิน 20 ล้านบาท กิจการร่วมทุนจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่รับซื้อหนี้หรือรับโอนอย่างน้อย 1 ครั้ง เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึง ประโยชน์ของลูกหนี้
นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาได้เจรจากับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในการรับซื้อมาบริหาร แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีข้อจำกัด หาก ธปท.สนับสนุนให้มีการ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ถือว่าเป็นโอกาส ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งหนี้เสียในระบบ SFIs ถือว่ามีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในส่วนของสินเชื่อรายย่อย อสังหาริมทรัพย์ บ้าน-ที่ดิน กลุ่มเกษตรกรและธุรกิจเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ รูปแบบการจัดตั้ง JV ได้ประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย กรณีที่การถือหุ้นสัดส่วน 50% เท่ากัน หรือน้อยกว่านั้น แต่จะเห็นว่า AMC ส่วนใหญ่อาจจะมีเงินทุนไม่เพียงพอ ซึ่งธนาคารร่วมทุนสามารถปล่อยสินเชื่อ และได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การจัดตั้ง JV อาจจะต้องมีการทำแผนร่วมกัน เช่น สัดส่วนการถือหุ้น วงเงินลงทุน และพอร์ตหนี้ที่จะบริหาร จะเป็นหนี้ประเภทไหน อายุหนี้เท่าไร ซึ่งรูปแบบบริหารจะเป็นการตัดขายก้อนเดียว หรือขึ้นอยู่กับทิศทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
“ภาพรวมจะเป็นโอกาสทั้ง 2 ฝ่าย โดยหนี้ในระบบ SFIs จะลดลง ซึ่งเรา AMC จะเข้าไปช่วยบริหาร จึงต้องใช้โมเดล sharing ได้ผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คาดว่าในปีนี้ตัวเลขหนี้เสียของระบบแบงก์พาณิชย์ที่มีการประกวดราคา หรือ TOR คาดว่าจะมีราว 5 แสนล้านบาท เฉพาะไตรมาส 4 น่าจะเกือบ 1-2 แสนล้านบาท หากมี SFIs ตัวเลขจะเติมเข้ามาเพิ่มอีก”
สอดคล้องกับความเห็นของนายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ที่ระบุว่า หากมีการเปิดให้ร่วมทุน บริษัทก็ให้ความสนใจ และเป็นโอกาส เนื่องจากหนี้ NPL ของธนาคารเฉพาะกิจ ของรัฐ ไม่ได้ถูกนำออกมาขายในตลาด เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ แต่อาจจะต้อง รอดูเงื่อนไขการจัดตั้งและปัจจัยภายในของแต่ละธนาคารด้วยว่าจะมีข้อจำกัดอะไรบ้าง
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ประเมินแนวโน้ม หนี้ NPL ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ว่ามีจำนวนค่อนข้างสูง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่า มีหนี้เฉลี่ยแห่งละไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) อาจจะมีหนี้เสียราว 6-7 หมื่นล้านบาท การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน น่าจะช่วยบริหารหนี้เสียได้ดีขึ้น
“CHAYO ถือว่ามีความพร้อมและมีความสนใจ และถือเป็นโอกาสในการบริหารหนี้ ทั้งมีและไม่มีหลักปร
ะกัน อย่างไรก็ดี ภายหลังการตั้ง JV ควรนำหนี้ ที่มีอายุเกิน 5 ปีนำมาขายก่อน เนื่องจากทิ้ง ไว้นานจะมีเรื่องของภาษีและการตั้งสำรอง ซึ่งจะยุ่งยากมากขึ้น”
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ