แบงก์ชาติการันตีจีดีพีไทยไม่มีทางต่ำ 3%

19 Dec 2022 323 0

 

          แต่หวั่นหนี้ครัวเรือน90%โตสุดโต่งฉุดรั้งเศรษฐกิจ

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Next Move 2023 The Nation Recharge ร่วมเติมพลังให้ประเทศไทย ก้าวสู่บริบทใหม่ ไปพร้อมกัน โดยวารสารการเงินธนาคาร ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ในระยะสั้นเป็นปีที่เจอความท้าทายหลักๆ จากเศรษฐกิจโลกปีหน้าค่อนข้างชัดเจนว่าจะชะลอตัว มาจากการที่ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกัน จากการเหยียบเบรก เร็ว แรง ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และยังมีความเสี่ยงที่มาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานสูงขึ้น ความเสี่ยงไม่แน่นอนเศรษฐกิจจีน

          อย่างไรก็ดี ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยทนได้ต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกชะลอลง การส่งออกถูกกระทบเติบโตเหลือ 1% แต่จะถูกฟื้นด้วยการเติบโตการบริโภคภายในประเทศ และเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 10 ล้านคน ปี 2566 บวกลบ 20 ล้านคน เป็นตัวช่วยเอื้อและสนับสนุนการฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัวได้ระดับ 3% ต่ำๆ ส่วนปี 2566 ประมาณ 3.7% แม้จะมีความเสี่ยงให้เศรษฐกิจชะลอ แต่โอกาสตัวเลขสูงกว่า 3% ก็ไม่น้อย

          ”ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ความเข้มแข็งด้านต่างประเทศเราค่อนข้างดี ความเปราะบางไม่ค่อยมี ปีนี้มองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล แต่ปีหน้าการฟื้นตัวท่องเที่ยวก็จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล เสริมความแข็งแกร่งมิติต่างประเทศ เป็นภูมิคุ้มกันช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปีหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนไม่น้อย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

          นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เป้าหมายสำคัญธปท. คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โจทย์สำคัญที่สุดคือ รักษาเสถียรภาพการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็เห็นว่าได้ผล เพื่อที่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 7.9% ก็ทยอยลดลงมาเหลือ 6.4% และ 5.5% แนวโน้มเงินเฟ้อก็ค่อยๆ ลงมาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก และคาดว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบ 1-3% ภายในครึ่งหลังของปี 2566 ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ยังเห็นตัวเลขเกิน 3% ส่วนอีกโจทย์ คือ การดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ก็ยังเห็นการเติบโตสินเชื่อ และความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน

          นอกจากนี้ การดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อไปเรื่อยๆ หนี้ครัวเรือนก็ต้องดู ให้อยู่ในระดับที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ตอนนี้สูงกว่าที่ธปท.อยากเห็น เกือบ 90% ของจีดีพี การอยู่ในระดับสูงขนาดนี้ ทำให้การฟื้นตัวมีโอกาสสะดุด ตอนนี้มีความจำเป็นต้องดูมาตรการต่างๆ ให้หนี้กลับมาสู่ระดับเหมาะสม

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button