ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ชี้3ปัจจัยฟื้นอสังหาฯ
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว และกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมา ประกอบกับ ความไม่มั่นใจในการนำเงินก้อนใหญ่ มาลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย คาดว่าจะทำให้ดัชนีราคาจะยังคงทรงตัวตลอดทั้งปี 2563 ในขณะที่ผู้ประกอบการพยายามที่จะระบายสินค้าคงค้างของตนเอง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่จะปรับลดการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งในปี2563จะยังเป็นตลาดของผู้ซื้อ ที่มีความพร้อมเนื่องจากการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับโปรโมชันและส่วนลดที่น่าสนใจ
ภายใต้เกมการแข่งขันของผู้ประกอบการ ค่ายต่าง ๆ ที่จัดโปรโมชันระบายสต็อก เพื่อเร่งเครื่องการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดีดีพร็อพเพอร์ตี้แชร์มุมมองเพื่อช่วย ขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถ ฟื้นตัวได้ในยุคโควิด-19ผ่าน3ตัวแปรหลัก ดังนี้
อันดับแรก “ราคา”ตัวเร่งการตัดสินใจหลักของผู้บริโภค จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับ ล่าสุด พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดในระดับราคา 8-15 ล้านบาท ปรับราคาเพิ่มขึ้นถึง 5% และระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้น 15%
สำหรับราคาคอนโดไตรมาสแรกปี 2563 ลดลง 6% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ซื้อ เพื่อลงทุนสนใจเข้ามาซื้อเพื่อขยายพอร์ต การลงทุนในทำเลที่มีศักยภาพเพื่อจะได้รับ ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนทาวน์เฮ้าส์ปรับราคาลดลง2%ขณะที่บ้านเดี่ยวปรับราคาเพิ่มขึ้น2%เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ อยู่อาศัยจริงและมีกำลังซื้อ
โดยระดับราคาต่ำกว่า 3.5 ล้านบาท ปรับตัว ลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 3%เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จากตัวเลขดังกล่าวถือเป็นนาทีทองของกลุ่มนักลงทุนและผู้ซื้อที่มีความพร้อม (เรียลดีมานด์) เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แข่งขันกันออกแคมเปญและโปรโมชันลด แลก แจก แถม ระบายสินค้าคงค้างโดยเฉพาะคอนโดเพื่อจูงใจผู้ซื้อ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง
อันดับสอง ความสนใจใน “โครงการแนวราบ” เติบโตขึ้น มากกว่าแนวสูงเนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพทำให้ผู้คนเล็งเห็นความสำคัญของสุขอนามัย ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สอดคล้องกับการที่บ้านแนวราบกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มว่า คนจะพิจารณาซื้อบ้านในทำเลใจกลางเมืองลดลง เพราะอนาคตการทำงานจะมีความยืดหยุ่น มากขึ้น สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ความจำเป็นในการเดินทางไปเช้า เย็นกลับ ตามเวลาทำงานปกติอาจลดน้อยลง ส่งผลให้ทำเลชานเมือง ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
อันดับ 3 “ความจำเป็นใหม่” สู่ความปกติใหม่ ภายในบ้าน โดยตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 จะเห็นพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญ กับความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย รวมกับความต้องการที่พักอาศัยที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังชันภายในให้เหมาะสมตามความต้องการได้ แม้จะมีพื้นที่จำกัด
โดยบ้านถูกออกแบบให้เป็น Smart Home Automation ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดการด้านพลังงาน สุขอนามัย รวมทั้ง ความบันเทิง ที่รองรับระบบควบคุมระยะไกลพร้อมกับการออกแบบให้เอื้อต่อ Internet of things (IoT) Face Recognition เพื่อลดการสัมผัส ระบบการเชื่อมต่อ เพื่อรองรับการทำงานและเจ้าของธุรกิจที่ดำเนินการ ได้จากที่บ้าน
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ