ออมสิน-ธอส.ดีเดย์ขึ้นดอกกู้
ตรึงได้ถึงสิ้นปีเตรียมปล่อยผีปีหน้า
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 พ.ย.65 นี้ คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง และคาดว่าสถาบันการเงินพาณิชย์ จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอย่างแน่นอน หลังจากที่ กนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วกว่า 3 ครั้ง โดยธนาคารออมสินจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงต้น ม.ค.2566 เป็นต้นไป ส่วนอัตราเท่าใดขึ้นอยู่สถานการณ์ตลาด “ธนาคารออมสินขอยืนยันอีกครั้งว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นานถึงสิ้นปี 2565 นี้ ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากนั้น จะพิจารณาตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง โดยที่ผ่านมา ออมสินได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ตั้งแต่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หากดอกเบี้ยเงินกู้ห่างจากตลาดมาก ก็จะมีผลกระทบต่อตลาดในภาพรวม”
ขณะที่ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า บอร์ด กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วน ธอส.ขณะนี้จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นานถึงสิ้นปี 2565 ส่วนปี 2566 ต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่จะปรับมากหรือน้อยเท่าใดต้องรอพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง “ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นโดมิโน เพราะหากตรึงดอกเบี้ยไว้นานก็จะกระทบสัดส่วนรายได้ ขณะเดียวกันลูกค้าก็จะเข้ามาขอสินเชื่อที่นี่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย MRR, MLR ห่างจากสัดส่วนในตลาด และแบงก์ก็ต้องไประดมเงินฝาก ซึ่งเป็นของที่แพงขึ้น ฉะนั้นในหลักการดอกเบี้ย MRR, MLR ไม่ควรจะห่างจากสัดส่วนตลาดมาก เพราะหาก MRR, MLR ห่างมากคนก็จะหันมากู้เงินที่แบงก์เยอะขึ้นส่วนแบงก์ต้องระดมเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงมาปล่อยกู้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานความคืบหน้าในการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับค่างวดให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ในที่เดียว แต่เจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ในช่วงเวลาของงานมหกรรมฯ โดยยอดลงทะเบียนสะสมตั้งแต่ 26 ก.ย.-14 พ.ย.65 มีจำนวน 308,454 รายการ จำนวนลูกหนี้ 134,698 คน เป็นลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 37% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18% ภาคกลาง 12% และภาคอื่น 33% ขณะที่ประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 77% เช่าซื้อรถยนต์ 7% และจำนำทะเบียนรถ 4%
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ได้ครอบคลุมและต่อเนื่องมากขึ้น ธปท.ได้หารือกับผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ใน 2 เรื่อง คือ
1.เพิ่มประเภทสินเชื่อในงานมหกรรมฯ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป ก่อนวันที่ 31 ต.ค.65 ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไปก่อนวันที่ 31 ต.ค.65
2.ขยายระยะเวลาลงทะเบียนจนถึงวันที่ 31 ม.ค.66 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.65 เพื่อขยายโอกาสให้ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนไม่ทันภายในระยะเวลามหกรรมเดิม พร้อมทั้งเป็นช่องทางให้กับลูกหนี้ ที่เข้ามาในงานมหกรรมสัญจรต่างจังหวัด สามารถแก้ไขหนี้กับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่ไม่ได้ร่วมงานสัญจร.
Reference: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ