รายงาน: รักต้องอุ้ม อสังหาฯจัดแพ็กเกจ ช่วยลูกค้าสู้ศึกไวรัส
ตลาดที่อยู่อาศัยไทย ส่ออ่วม ยอดขาย ยอดโอนฯ วูบหนัก หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ไม่ใช่ผลพ่วงซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นอย่างที่คิด โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ประเมินความเสียหาย การชัตดาวน์สถานบันเทิง กิจกรรมทางการค้า- ห้างร้าน และอื่นๆ ในกทม.-ปริมณฑล น่าจะทำให้สูญเสียเม็ดเงินในช่วงครึ่งปีแรก มากถึง 6-7 แสนล้านบาท เทียบเท่าจีดีพีครึ่งปีแรกติดลบ 0.5-1% ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งกลุ่มเจ้าของกิจการ ลูกจ้างรายวัน และผู้ประกอบอาชีพ ในกลุ่มสถานที่เสี่ยงที่ถูกปิด ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ ใหญ่ ตื่นตัว ส่งสัญญาณตั้งรับพยุงตลาดและธุรกิจ ผ่านการออกมาตรการดูแล-ช่วยเหลือลูกค้าชั่วคราว หวังอุ้มทั้งลูกค้ารายเก่า และมัดใจลูกค้ารายใหม่
นำร่องโดย บมจ.ศุภาลัย ออกมาตรการพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์ 3 เดือน เพื่อช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่ง นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม ระบุว่า จะให้สิทธิ์กับลูกค้าที่มีอาชีพในกลุ่มสายการบิน โรงแรม ฯลฯ ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระเงินดาวน์ กับบริษัททั้งโครงการบ้าน และคอนโดมิเนียมทั่วประเทศ โดยจำนวนเงินที่เว้นระยะเวลาการพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์ 3 เดือนนี้ จะนำไปรวมชำระในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ เปิดช่องรับสิทธิ์ดังกล่าวถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ด้าน นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ เผยว่า บริษัทได้ติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีอัตราผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมพบว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ลูกค้าหลายรายประสบปัญหาในการส่งค่างวดแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะลูกค้าที่ฐานเงินเดือนไม่สูงมาก อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ภาคการท่องเที่ยว เช่น โซนสุวรรณภูมิ เป็นต้น
ล่าสุด จึงจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อหวังอุ้มทั้งลูกค้าจองรอโอนฯ ลูกค้าใหม่ ในทุกโครงการ ภายใต้มาตรการ “SENA ZERO COVID” โดยจะช่วยเหลือลูกค้าจองที่อยู่ระหว่างผ่อนดาวน์ในทุกกรณี หากยื่นความประสงค์เข้ามา เช่น ผ่อนปรนให้มีการยืดงวดผ่อนให้ยาวขึ้น ทำให้ส่งดาวน์ต่องวดลดน้อยลง หรือ การพักส่งงวดดาวน์เป็นการชั่วคราว ส่วนกลุ่มลูกค้าใหม่ บริษัทจะแบ่งเบาภาระทางการเงิน ด้วยการจัดโปรโมชันดูแลส่วนบุคคลในทุกรูปแบบ ประกอบกับโปรโมชันเดิมต่างๆ ที่ทยอยออกมาก่อนหน้านี้ด้วย
“จากวันนี้ไปยอดโอนคงเกิดขึ้นได้ยากมาก ส่วนใครที่ซื้อบ้านในช่วงนี้ เราก็อยากสนับสนุน เช่น หากยื่นกู้ 5 ล้านบาท กำหนดผ่อนต่องวดเท่าไหร่ก็ตาม บริษัทยินดีออกให้ก่อนทุกงวด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะคงมีความจำเป็นจริงๆ ทั้งนี้ คาดผลกระทบน่าจะลากยาวถึงช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้”
ขณะที่ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ระบุว่า แม้บริษัทจะไม่มีโครงการเพื่อขายในลักษณะลูกค้าต้องผ่อนดาวน์ระยะยาวมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการบ้านสร้างเสร็จพร้อมโอน มีเพียงบางส่วนที่เป็นโครงการคอนโด มิเนียมที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และมีการเรียกเก็บผ่อนดาวน์ แต่เบื้องต้นพบว่า เริ่มมีลูกค้าบางส่วนยื่นความประสงค์ขอความช่วยเหลือ ในการแบ่งเบาภาระจากผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวเข้ามามากพอสมควร จากอดีตที่ไม่ค่อยพบเจอปัญหา เบื้องต้นบริษัทจะพิจารณาช่วยเหลือตามความจำเป็นของแต่ละรายบุคคล เพราะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเปิดช่องผ่อนปรน เรื่องระยะเวลา การทำสัญญา และโอนกรรมสิทธิ์ ออกไปตามแต่ลูกค้าแต่ละรายร้องขอ จากเดิมที่ต้องมีการจอง ทำสัญญา และพร้อมโอนทันทีในระยะ 30 วันเท่านั้น คาดมาตรการดังกล่าว จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงวิกฤตินี้ได้
ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ยังพบว่า มีบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่อีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการศึกษา และจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าคงมีการทยอยออกมาหลังจากนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น เอสซี แอสเสท, เอพี ไทยแลนด์, โกลเด้นแลนด์ และ แสนสิริ เป็นต้น
“แสนสิริมีมาตรการดูแลลูกค้าในลูกค้าที่ประสบปัญหาในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ หากลูกค้าท่านใดมีปัญหาเรื่องการผ่อนดาวน์หรือโอน สามารถติดต่อฝ่ายขายได้โดยตรง โดยเราจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล”
เช่นเดียวกับนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตทแวลู บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่อยู่ระหว่างระดมสมอง กู้วิกฤติลูกค้าที่อยู่ระหว่างผ่อนดาวน์กับทางบริษัท หากตกงานมีหลักฐานมาแสดงว่า เกิดจาก โควิด-19 บริษัทจะให้หยุดผ่อนดาวน์ชั่วคราว จนกว่าจะหางานมีรายได้ใหม่ ซึ่งจะสอดรับกับสถาบันการเงินทุกแห่งที่ช่วยเหลือลูกค้ากู้ซื้อบ้านเช่นเดียวกัน
ผ่อนต่องวดเท่าไหร่ก็ตาม บริษัทยินดีออกให้ก่อนจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ