ที่อยู่อาศัย 3 ไตรมาสสัญญาณบวก
ศูนย์ข้อมูลฯ เผยตัวเลขเปิดตัว-ขายปรับตัวดี อสังหาฯ ‘อีสาน-ใต้’ ระบุตลาดฟื้นตัวเทียบปี 62
อสังหาริมทรัพย์
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อ และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 65 ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวและขยายตัวของตลาดในช่วงปลายปีนี้
ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม พบว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ณ ครึ่งแรกปี 65 ในด้านซัปพลายพร้อมขายต้นงวด หรือ Total Supply มีจำนวนโครงการลดลง เป็นการลดลงของจำนวนหน่วย แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกปี 64 โดยในครึ่งแรกปี 65 นี้มีโครงการเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการ จำนวนหน่วย และมูลค่า โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี แม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่มีขนาดธุรกิจอสังหาฯ ขนาดรองลงมาจากจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น แต่ในครึ่งแรกปี 65 นี้มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการเปิดขายใหม่มากที่สุด
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครึ่งแรก ปี 65 พบว่ามีจำนวน 13,179 หน่วย มูลค่า 46,812 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 2,525 หน่วย มูลค่า 8,155 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 10,654 หน่วย มูลค่า 38,657 มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด 2,076 หน่วย มูลค่า 6,174 ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน 2,674 หน่วย มูลค่า 11,642 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 10,505 หน่วย มูลค่า 35,170 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพรวมผลสำรวจตลาด 5 จังหวัด ในครึ่งแรกปี 65 พบว่าสถานการณ์ด้านการขายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ปรับสู่สภาวะที่ดีขึ้น จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม เริ่มเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว แต่ยังคงมีความน่าเป็นห่วงจากการที่โครงการสร้างเสร็จรอการขายในจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มใช้เวลาในการขายนานขึ้น ขณะที่จังหวัดอุดรธานียังคงทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่ถดถอยตามสภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางปรับตัวสูง ขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการเติมสินค้าใหม่เข้ามาในตลาด โดยเฉพาะในส่วนของโครงการบ้านแฝด ซึ่งเพิ่มเข้ามาในตลาดในสัดส่วนที่สูงแม้จะได้รับกระแสตอบรับที่ดี แต่อัตราการขายบ้านเดียวก็ยังคงสูงกว่า
สำหรับในช่วงครึ่งแรกปี 65 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมดลดลงจากช่วงครึ่งแรกปี 2564 โดยลดลงทั้งจำนวนหน่วย และมูลค่า ทั้งนี้จำนวนหน่วยลดลง -3.7% มูลค่าลดลง -0.3% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเสนอขายทั้งหมด ณ ครึ่งแรกปี 64 ขณะที่หน่วยเสนอขายเพิ่มขึ้นโดยมีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน 2,076 หน่วย มูลค่า 6,174 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกปีก่อน 31.1% มูลค่าเพิ่มขึ้น 27.0% โดยเป็นโครงการอาคารชุดเพียง 220 หน่วย มูลค่า 197 ล้านบาท เป็นโครงการ บ้านจัดสรร 1,856 หน่วย มูลค่า 5,977 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์หน่วยเหลือขายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ครึ่งแรกปี 65 มีจำนวน 10,505 หน่วย ลดลงจากครึ่งแรกปีก่อน -9.0% มูลค่า 35,170 ล้านบาท ลดลง -13.1% เป็นโครงการอาคารชุด 1,990 หน่วย มูลค่า 4,652 ล้านบาท ในส่วนของโครงการบ้านจัดสรรมีหน่วยเหลือขายรวม 8,515 หน่วย มูลค่า 30,518 ล้าน
ดร.วิชัย กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบอีกว่าในช่วงครึ่งแรกปี 65 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 2,674 หน่วย มูลค่า 11,642 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 64 จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 25.1% มูลค่าเพิ่มขึ้น 80.2% แบ่งเป็นโครงการอาคารชุดเพียง 535 หน่วย มูลค่า 3,503 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายได้ใหม่ของโครงการบ้านจัดสรร 2,139 หน่วย มูลค่า 8,139 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลสำรวจ พบว่ามีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดพักอาศัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น โดยมีจำนวนเพียง 220 หน่วย ที่อยู่ในทำเลนิคมลำตะคองและมีการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรรกระจายทั้ง 5 จังหวัด แสดงให้เห็นว่าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบมีการฟื้นตัวมากกว่าโครงการอาคารชุด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากอัตราดูดซับแยกตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่าในช่วงครึ่งแรกปี 65 อัตราดูดซับรวมทุกประเภทอยู่ที่ 3.4% และประเภทที่มีอัตราดูดซับดีที่สุดอยู่ในกลุ่มของบ้านเดี่ยว โดยอัตราดูดซับอยู่ที่ 3.8% ขณะที่อัตราดูดซับอาคารชุดมาอยู่ที่ 3.5%
จากผลการสำรวจดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในภาคตะวันเฉียงเหนือ โดยคาดการณ์ว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่จำนวน 3,928 หน่วย เพิ่มขึ้น 60.3% เมื่อเทียบกับปี 64 ซึ่งมีจำนวน 2,450 หน่วย โดยมีมูลค่าการเปิดตัวใหม่จำนวน 11,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งมีมูลค่า 7,757 หน่วย มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 4,206 หน่วย เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับปี 64 ซึ่งมีจำนวน 3,973 หน่วย มูลค่าขายได้ใหม่ 13,560 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่า 12,945 ล้านบาท และคาดว่าจะมีหน่วยเหลือขาย 14,962 หน่วย เพิ่มขึ้น 43.3% เมื่อเทียบกับปี 64 ซึ่งมีจำนวน 10,439 หน่วย มูลค่าหน่วยเหลือขาย 50,788 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% โดยเพิ่มจาก 36,095 ล้านบาท ในขณะที่อัตราดูดซับในกลุ่มโครงการแนวราบลดลงมาอยู่ที่ 2.0% และอาคารชุดอัตราดูดซับจะปรับลดลงจาก 2.8% ในปี 2564 เป็น 2.3%ในปี 65
นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสานพิมานกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดขอนแก่น โดยรวมแล้วตัวเลขการขายที่หลายคนกังวลในช่วงที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาตัวเลข ยอดขายไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ทำให้ตลาดยังขยายตัวไปได้ดี โดยปัจจุบันการฟื้นตัวของตลาดดีกว่าที่ คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะยอดขายสินค้ากลุ่มทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ ซึ่งถือว่าดีกว่ากลุ่มบ้านเดี่ยว ทั้งนี้ไม่นับรวมโครงการที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรแต่หากนับรวมโครงการที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตลาดจะดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้อย่างมาก
”การขยายตัวของตลาดในช่วงที่ผ่านมา มีอสังหาฯ เกิดใหม่มากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มีการขอจัดสรร เช่น การจัดแปลงที่ดินพร้อมสาธารณูปโภคในจำนวนไม่เกิน 9 แปลง ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจัดสรรโครงการ”
ทั้งนี้ ในส่วนของกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภค ขนาดนี้เริ่มกลับมาบ้างแล้วเนื่องจากธุรกิจต่างๆ มีความชัดเจนแล้วว่ากลุ่มธุรกิจไหนที่สามารถฟื้นตัวและขยายตัวไปได้ส่วนธุรกิจไหนที่ยังไม่มีความชัดเจนก็มีการปิดตัวไปสำหรับปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุด ส่วนสถานการณ์ทางด้าน ซัปพลายที่อยู่อาศัยที่จะเข้าตลาดใหม่นั้นถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบริษัทอสังหาฯ จากส่วนกลางซึ่งมองว่าตลาดยังมีดีมานด์ที่ต่อเนื่องและสามารถขยายตัวไปได้อีกมากนั้น ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะความมั่นใจของบริษัท อสังหาฯ จากส่วนกลางที่มองตลาดดีเกินไป ทำให้มีการขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ จำนวนมากๆ อาจส่งผลให้ซัปพลายในพื้นที่เกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลายได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคอนโดฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรระมัดระวังมากที่สุด
สำหรับปัจจัยบวกที่จะเข้ามาส่งเสริมตลาดอสังหาฯ ในภาคอีสานนั้นคือราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้พืชผลทางการเกษตรจะมีราคาขายที่ดีมากส่วนในระยะยาวนั้นโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดันของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัดซึ่งถูกให้กำหนดเป็นเขตเอ็นอีอีซี ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น หนองคาย และอุดรธานี เนื่องจากทั้ง 4 จังหวัดจะมีการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ โครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก และจะมีผลให้ประชากรที่เคยเดินทางไปทำงานนอกพื้นที่กลับมาอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมเนื่องจากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถเดินทางกลับมาทำงานในถิ่นกำเนิดของตัวเอง รวมถึงแรงงานใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคตไปด้วย
นายนราธร ธานินทร์พิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาราแลนด์ แอนด์ ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมานั้น ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจขณะนี้เป็นบวกแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลุ่มธุรกิจเองยังมีอัตราการติดลบอยู่เล็กน้อยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่ดีในพื้นที่ก็คือดัชนีการบริโภคของภาคเอกชน เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมถึง 30% ดังนั้น ลูกค้าหลักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็คือกลุ่มผู้บริโภคที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากสังเกตจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมระหว่างปี 65 เทียบกับปีที่ผ่านมา ในปีนี้ มีการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมลดลงรวมถึงแรงงานก็มีจำนวนลดลงด้วย อย่างไรก็ดี ในด้านของเม็ดเงินในการลงทุนนั้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงโดยมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อความกังวลของผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็คือการหายไปของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าดีมานด์ที่อยู่อาศัยก็หายไปด้วย
ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางด้านความต้องการที่อยู่อาศัยนั้น ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคซื้อที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้นส่วนสถานการณ์ของซัปพลาย ในปีนี้พบว่ามีที่อยู่อาศัยเข้าสู่ตลาด 1,400 หน่วย ซึ่งสะท้อนได้ว่าตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดนครราชสีมานั้นกลับมาฟื้นตัวได้เทียบเท่ากับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นปัจจัยบวกของตลาดในขณะนี้
ส่วนปัจจัยลบที่น่าจับตาของปีนี้ คือ 1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากค่าบริการส่วนกลาง สโมสรและพื้นที่สาธารณะในโครงการจัดสรรนั้นไม่ได้รับการยกเว้นในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้หลังจากที่ผู้ประกอบการส่งมอบให้กับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จะทำให้นิติบุคคลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากส่วนดังกล่าว 2. ปัญหาพื้นที่น้ำท่วมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น 3. ความไม่ชัดเจนของระยะเวลาในการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการคาดการณ์ดีมานด์ในอนาคตได้ยาก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้ในเรื่องของระยะเวลาการก่อสร้างยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ประสบปัญหาในการพัฒนาโครงการที่ไม่สอดคล้องกับดีมานด์ 4. ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อการก่อสร้างที่ล่าช้า หากได้รับการสนับสนุนในการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
ขณะที่ตลาดอสังหาฯ ภาคใต้มีความต่างไปจากภาคอีสานค่อนข้างมาก เนื่องจากภาคใต้นั้นประชากรพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะจังหวัดที่ทำรายได้สูงอย่าง ภูเก็ต และสงขลา โดยนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าภูเก็ต กล่าวว่า ภาพรวมอสังหาฯ ภูเก็ตปัจจุบันเป็นรอยต่อช่วงวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี เพราะแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภูเก็ตจะได้รับผลกระทบหนัก จากการหายไปของการท่องเที่ยว และธุรกิจต่างๆ แต่ก็ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มองเห็นมุมใหม่ๆ จากการจัดการและเข้าถึงปัญหา มีมุมมองในการจัดการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวในหลายๆ ทาง และตกผลึกในตัวของแหล่งรายใหม่ๆ 8 ธุรกิจ ทำให้ไม่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ประกอบด้วย 1. การสร้างรายได้จากธุรกิจอาหาร 2. ธุรกิจการศึกษาซึ่งส่งเสริมธุรกิจอสังหาฯ ไปในตัว 3. ธุรกิจนายหน้าเรือท่องเที่ยว เรือขนส่ง เรือสำราญ 4. ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งชูในเรื่องของเป็นศูนย์กลางการแพทย์ 5. ธุรกิจการสัมมนา การประชุม 6. ธุรกิจกีฬา 7. ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ 8. การเป็นแหล่งส่งออกทูน่า
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวนั้น ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินเดีย โดยในส่วนของจำนวนนั้นถือว่ากลับมาได้กว่า 50% แล้ว แต่ในด้านรายได้นั้นถือว่าต่ำกว่าในช่วงปกติค่อนข้างมาก แต่ในส่วนที่ต้องส่งเสริม คือ การกระจายกลุ่มนักท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย ซึ่งจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว อย่างไรก็ตามสถานการณ์การท่องเที่ยวภูเก็ต ณ ปัจจุบันถือว่าพอ ไปได้ และมีแนวโน้มที่ดีสำหรับการลงทุน แต่ภาคการลงทุนนั้นต้องใช้เวลาในการกลับมา
ส่วนในมุมมองของภาคธุรกิจอสังหาฯ ยังคงมี รูปแบบการพัฒนาเช่นเดิมคือมีการพัฒนาโครงการในรูปแบบพูลวิลล่า ทั้งนี้ เมืองภูเก็ตเองอยากให้กลุ่ม นักลงทุนให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจหลักๆ ทั้ง 8 ธุรกิจที่จะกลายมาเป็นรายได้ใหม่ๆ ให้กับภูเก็ต โดยการลงทุนต่อยอดกับธุรกิจสุขภาพหรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ ที่กำลังมาแรงมากๆ
นายบุญ ยงสกุล อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวว่า ในปัจจุบันภูเก็ตมีรายได้รวมประมาณ 60,300 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าภูเก็ตเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว โดย 85% เป็นรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นภูเก็ตยังคงเป็นจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และหากอนาคตเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เช่น สงคราม หรือโรคระบาดจะทำให้ภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ สำหรับรายได้กว่า 85% ที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้มาจากกลุ่มประเทศตะวันออกลางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีการพักผ่อนในประเทศไทยที่นานขึ้น เม็ดเงินหรือการใช้เงินก็สูง และความถี่ในการเดินทางเข้ามาก็มีความถี่ขึ้น นักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางเข้ามา เพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียด้วย
ทั้งนี้ การส่งเสริมธุรกิจในกลุ่มอาหาร การศึกษา กิจกรรมกีฬา และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดที่อยู่อาศัยในภูเก็ตได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยในกลุ่มลักชัวรีระดับราคา 10-50 ล้านบาท ซึ่งมีดีมานด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาทางน้ำ หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยกลุ่มที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยลักชัวรีนี้จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ ฮ่องกง นอกจากนี้ กลุ่มตลาดที่ได้รับความสนใจมากขึ้นคือ กลุ่มซูเปอร์ลักชัวรีวิลล่าราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกลุ่มลูกค้ามีทั้ง คนไทย รัสเซีย ฮ่องกง และจีน ถึงแม้ว่าจีนจะยังไม่เปิดประเทศ แต่ก็มีคนจีนรุ่นใหม่ที่อยู่นอกประเทศพร้อมเข้ามาลงทุน ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าตลาดภูเก็ตนั้น หากไม่เกิดสถานการณ์โรคระบาด หรือสงครามที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยตรงภูเก็ตก็ยังคงเป็นตลาดที่ขยายตัวได้ดี
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา