เจาะตลาด LGBTQ+ กำลังซื้อสูง แบงก์รัฐ-เอกชน อนุมัติกู้ร่วมชาวสีรุ้ง
เป็นไปอย่างชื่นมื่นสำหรับ Pride Month เทศกาลไพรด์ เดือนมิถุนายนของทุกปีเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และการสนับสนุนความเท่าเทียมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้างเรื่องเพศสภาพมากขึ้น มีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รองรับสิทธิชอบธรรมต่างๆ ตามกฎหมาย มีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย สนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)
ขณะเดียวกับหลายธนาคารเปิดรับพิจารณาการกู้ร่วมของ LGBTQ+ ไม่แตกต่างจากคู่สมรสชายหญิงปกติ ทั้งในด้านวงเงินการปล่อยสินเชื่อ และเอกสารประกอบยื่นขอสินเชื่อ ล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับเงื่อนไขในการให้สินเชื่อของธนาคาร โดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถกู้ร่วมกันได้
โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อบ้าน MY PRIDE” อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี ปัจจุบันเท่ากับ 3.75% ต่อปี (คิดจากอัตราดอกเบี้ย MRR ตามประกาศธนาคาร ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.150% ต่อปี) ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ให้กู้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารเพื่อซื้อบ้าน ห้องชุด(คอนโด- มิเนียม) หรือที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์มือสองของธนาคาร ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้แล้วถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2565
สำหรับนโยบายของ ธอส. ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ได้ขับเคลื่อนความเท่าเทียม ดำเนินการการเข้าถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ให้เท่ากับคู่รักต่างเพศ ผ่านการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น ตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยปรับปรุงเงื่อนไขให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทำการขอกู้ร่วมกันได้ และยังครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่นเดียวกับกรณีกู้ร่วมกับคู่สมรส พี่-น้อง และบิดา-มารดา
น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าภายใต้นโยบายส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ นโยบายของ ธอส. ทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้ทำการกู้ร่วม เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอันหนึ่งของความเข้าใจ และเปิดโอกาสแห่งความเท่าเทียมให้คนทุกกลุ่ม
ตอกย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังทั้งในระดับสากลและในประเทศ ประกอบกับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ด้วยมีความมุ่งมั่นที่จะให้สังคมไทย ตระหนักถึงการส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียมของผู้หญิง ผู้ชาย และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสามารถเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ
โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้สนับสนุนคู่รักเพศเดียวกันกู้ร่วมซื้อบ้าน ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้านสำหรับคู่เพื่อน” พร้อมประกันคุ้มครองสินเชื่อ MRTA ลดความเสี่ยงหากเกิดเหตุไม่คาดฝันสำหรับคู่รักเพศเดียวกันกู้ร่วมกัน โดยบริษัทประกันจะช่วยเข้ามาจ่ายเงินกู้ที่ยังค้างอยู่กับธนาคารให้แทน และถ้ายังเหลือเงินส่วนต่างก็จะมอบให้กับผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ ซึ่งจะทำประกันทั้งคู่หรือเพียงคนใดคนหนึ่งก็ได้ และเบี้ยประกันยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร
สำหรับธนาคารที่สนับสนุน LGBTQ ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันได้นั้น อ้างข้อมูลจาก www.sansiri.com มีเพิ่มเติม ดังนี้ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารยูโอบี และธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด โดยส่วนใหญ่จะกู้ได้สูงสุด 90-95% เท่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางการเงินของผู้กู้และผู้ร่วม
อย่างไรก็ดี เป็นที่ยอมรับว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีกำลังซื้อสูง มีการคาดการณ์ว่ากลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก 486 ล้านคน อยู่ในแถบเอเชีย 288 ล้านคน และในไทยประมาณ มีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน มีความสามารถในการใช้จ่าย
ข้อมูลของเทอร์ร่า บีเคเค ระบุว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีรายได้มากกว่ากลุ่มสถานะชายหญิง เมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน โดยมีรายได้ 50,000 - 85,000 บาทต่อเดือน สัดส่วนมากกว่า 9% และมีรายได้มากกว่า 85,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป สัดส่วนมากกว่า 4 โดยมีรสนิยมเรียบหรูดูแพง เน้นแบรนด์และความน่าเชื่อถือเป็นหลักไม่เน้นตามเทรนด์เหมือนคนทั่วไปปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่ม LGBT มีอำนาจซื้อสูงนับเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ สำรวจตลาดอสังหา แนวโน้มการเลือกซื้อของคนกลุ่ม LGBT จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือของแบรนด์มากกว่ากลุ่มชายหญิง
โดยปัจจัยด้านธุรกรรมการเงินการที่ธนาคารหลายแห่งเปิดรับพิจารณาการกู้ร่วมของ LGBTQ+ เป็นส่วนสนับสนุนตลาดอสังหาฯ
“LGBT เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง จึงถือเป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่สินค้าและบริการจากแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจในการเจาะตลาดนี้เพิ่มขึ้น” นางสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ให้สัมภาษณ์ไว้
LGBT เป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ แบบ Work hard, Play hard ดังนั้น รูปแบบอสังหาฯ ที่ได้รับความนิยมของคนกลุ่มนี้จึงเป็นคอนโดมิเนียมมากกว่าบ้านเดี่ยว เพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกของทำเลที่ตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีครบครัน
โดยปัจจัยในการเลือกซื้ออสังหาฯ ของคนกลุ่ม LGBT นั้นให้ความสำคัญมากกว่าคนกลุ่มชายหญิง คือ พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต ซึ่งแนวโน้มคนกลุ่มนี้จะมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพราะหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดรับในสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน และมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของความรักหรือเรื่องของสถานะทางเพศ
ข้อมูลจาก บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาโครงการมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่ม LGBT+ แบบเฉพาะเจาะจง เพียงแต่ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการสื่อสารผ่านโฆษณาดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ M Silom ที่ช่วงท้ายก่อนปิดโครงการเปลี่ยนสีป้ายโฆษณาเป็นสีชมพูแสด เพื่อดึงดูดกลุ่ม LGBT+ เพราะโครงการพบว่ามีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ในโครงการจำนวนมาก, ค่าย SC Asset เจ้าของโครงการ เซ็นทริค ห้วยขวางที่ใช้ผู้แสดงเป็น LGBT+, ค่ายแสนสิริ มีโครงการ BuGaan (บูก้าน) บ้านหรูระดับ เอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนซ์ ใจกลางเมือง ราคาเริ่มต้น 30 - 80 ล้านบาท กับ “แนวคิด My Home Speaks for Myself บ้านที่บ่งบอกความเป็นตัวตน” เป็นต้น
การเจาะกลุ่ม LGBT+ ต้องกลมกลืนกับกลุ่มคนชายหญิงทั่วไป การใช้กลยุทธ์ต้องเคารพความเป็นตัวตนของกลุ่มผู้บริโภค (Respect) ตอบสนองความต้องการของพวกเขาที่ต้องการการยอมรับจากสังคม ยอมรับในความเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านสินค้าและบริการที่มีรสนิยมไม่ว่าจะเป็น ดีไซน์ วัสดุ โทนสี การตกแต่งบรรยากาศ
ดังนั้น หากสามารถพัฒนาโครงการที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนกลุ่มนี้ได้ “โอกาส” ที่กลายเป็นแบรนด์ที่อยู่ในดวงใจคนกลุ่มนี้ไม่ยาก ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงที่มีความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอย
นอกจากเป็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดอสังหาฯ แล้ว การปรับเงื่อนไขในการให้สินเชื่อของธนาคารของรัฐ ที่กำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมกันได้นั้น เป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยขับเคลื่อนความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ให้เท่ากับคู่รักต่างเพศ
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา