คอนโดจ่อเทคออฟ รับเปิดเมือง
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
เจาะ 20 ทำเลฮอตผุดโครงการใหม่
จากสัดส่วนคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในปี2565 ที่พลิกมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น 65.2% แซงบ้านจัดสรรทีลดลงเหลือ 34.8% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีหลังวิกฤติโควิด-19 กลายเป็นคอนโดเทคออฟ!รับมาตรการเปิดหน้ากาก กลางเดือนมิ.ย.
“วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ดัชนีอสังหาฯ เริ่มผงกหัวขึ้น จากช่วงโควิดที่ลดลงเหลือ 68 จุด ปัจจุบันอยู่ที่ 86 จุดหมายความว่า อสังหาฯเริ่มฟื้นตัว สอดคล้องกับคาดการณ์นักเศรษฐศาสตร์สถาบันการเงินต่างๆ และศูนย์ข้อมูลอสังหาฯว่า ตลาดจะขยายตัวตามประมาณการณ์ไว้ที่ 9.1% ที่เป็นไปอย่างปกติที่ควรจะเป็น (Base Case) หรือกรณีที่เลวร้าย (Worst Case) ก็ยังมีการขยายตัวอยู่ที่ 3.4 ต่างจากปี 2564 ที่ติดลบ 6% สะท้อนว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในปี 2565
“สิ่งหนึ่งที่สะท้อนการฟื้นตัวคือยอดขายคอนโดและบ้านแนวราบโดยเฉพาะคอนโดมีการปรับตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการอสังหาฯมีการลงทุนมากขึ้นทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสังเกตได้จากดัชนีราคาอาคารชุดรวม ในไตรมาสแรกปีนี้เริ่มขยับขึ้นจากไตรมสก่อนหน้าตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่า เป็นสัญญาณบวกของตลาด”
สำหรับการเปิดตัวคอนโดใหม่ในกรุเทพฯและปริมณฑล เดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีจำนวน 7,200 ยูนิต เทียบกับเดือน ม.ค.2564 พบว่า มีการเพิ่มขึ้น 1,000% เนื่องจากไม่มีการเปิดตัว หากย้อนหลังในปี2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขการเปิดตัวคอนโดใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 8,300 ยูนิต ในช่วงก่อนเกิดโควิดค่อนข้างมาก แต่เดือน ก.พ. มีการเปิดโครงการ 7,200 ยูนิต และ มี.ค.เปิดอีก 6,000 ยูนิต
“ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสต็อกคอนโดเริ่มหมด สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำก็คือสร้างสต็อกใหม่ ประกอบกับความเชื่อมั่นคนดีขึ้นทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯกล้าที่เปิดโครงการใหม่ถึง 7,200ยูนิตต่อเดือน ซึ่งมูลค่าในการเปิดโครงการคอนโด ต่อเดือนกว่า 2,000 ล้านบาท”
วิชัย ระบุว่า หลังเกิดโควิด-19 ผู้ประกอบการอสังหาฯในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดตัวโครงการคอนโดในเมืองน้อยลง เนื่องจากคอนโด ในเมืองมีระดับราคาสูง ซึ่งกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ที่เป็นลูกค้าหลักส่วนหนึ่งหายไปจากตลาดทำให้มีการเปิดตัวน้อยลง แต่หันไปลงทุนคอนโด โซนนอกเมืองมากขึ้น โดยทำเลที่เปิดตัวมากที่สุด ได้แก่ 1.บางนา 2.ห้วงขวาง 3. บางซื่อ 4 .จตุจักร 5.เมืองปทุมธานี 6. ดอนเมือง 7.สวนหลวง 8.บางพลัด 9.บางพลี 10.บางเขน 11.พญาไท 12.บางกอกน้อย 13.วังทองหลาง 14.ประเวศ 15.คลองหลวง 16.บางกรวย 17.พระโขนง 18. บางใหญ่ 19.หลักสี่ 20.บางกะปิ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน และเปิดเป็น คอนโดค่อนข้างมาก
“เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อว่าในปีนี้ จะมีคอนโดเปิดใหม่กว่า 30,000 ยูนิต ส่วนหนึ่ง เป็นคอนโดระดับราคาจับต้องได้ และส่วนหนึ่ง เป็นคอนโดราคาแพง ที่อยู่ในเมือง (ซีบีดี) คาดว่า การเปิดตัวคอนโดในปีนี้จะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท”
ด้านยอดขายใหม่ของคอนโด ปีนี้คาด ขายได้ 41,000 ยูนิต มูลค่า 166,000 ล้านบาท กรณีสถานการณ์ที่เป็นไปอย่างปกติที่ควรจะเป็น (Base Case) หรืออาจจะมากกว่านี้หากเป็นสถานการณ์ดีที่สุด (Best case) นั่นหมายความว่ายูนิต และมูลค่าการขายน่าจะเพิ่มขึ้น 30-40% แปลว่า คอนโดฟื้นกลับมาแล้ว !!
โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำเลห้วยขวาง ระดับราคา 3-5 ล้านบาทขายได้มากสุดกว่า 1,300 ยูนิต เขตบางรัก มีคอนโด ราคา 10 ล้านขึ้นไป 179 ยูนิตมูลค่า 3,790 ล้านบาท รองลงมาราคา 5-7.5 ล้านบาท 104 ยูนิต มูลค่า 731 ล้านบาท เขตวัฒนาช่วงสุขุมวิท ระดับราคา 7.5-10 ล้านบาทขายได้ มากที่สุดคิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท เขตปทุมวัน ราคา 5-7.5 ล้านบาทขายได้ 124 ยูนิต มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท และราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีมูลค่าการขายกว่า 2,000 ล้านบาท สะท้อนว่า คอนโดเริ่มขายได้มากขี้นจริง ในช่วงไตรมาสแรกปี65
“พื้นที่ในซีบีดีมีจำนวนจำกัด มียูนิตเลือกน้อย ราคาที่ดินแพง ราคาต่อยูนิต ต่อตร.ม.สูง ในส่วนของยูนิตการขายไตรมาสแรกในซีบีดีแยกตามราคาและทำเล คอนโดเหลือขายหลัก 100 ยูนิตเท่านั้นไม่เหมือนโซนบางนาที่เหลือจำนวน5,000 ยูนิต หรือโซนในสมุทรปราการ ลาดกระบังเป็นคอนโดราคาถูก มีจำนวนเยอะ จับตลาดแมส”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องและเร็วกว่าที่คาดการณ์โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยนำร่องกิจกรรมในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ “โควิด-19” โดยกลางเดือนมิ.ย.จะนำร่องยกเลิกสวมหน้ากากอนามัย ในบางพื้นที่ รวมถึงการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้คนเริ่มมีความมั่นใจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยรวมถึงการซื้ออสังหาฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสี่อีกครั้ง คาดว่า เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญหนึ่งที่ทำให้คอนโดกลับมาTake off !
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ