ธปท.ชี้เกณฑ์กลต.หนุนเสถียรภาพศก.
ธปท. เผย เกณฑ์ ก.ล.ต. ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สนับสนุนนำคริปโทฯเป็นสื่อกลางชำระสินค้า-บริการ หนุนเสถียรเศรษฐกิจ ด้านก.ล.ต.เล็งเฮียริ่งเกณฑ์ ยูทิลิตี้โทเคน พร้อมใช้ เม.ย.
นายพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลไม่เหมาะเป็นสื่อกลางชำระเงิน ที่มีความเสี่ยงทั้งผู้ใช้และห้างร้านที่รับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังผลกระทบภาพใหญ่ ต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ หากใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ในการเป็นสื่อกลางชำระเงินที่แพร่หลาย มีหลายเหรียญที่เกิดขึ้นมากมาย จะทำให้ไม่เกิด การเชื่อมโยงของระบบการเงินเช่นเดียวกับการไม่อนุญาตให้นำเงินตราต่างประเทศ มาชำระเงินได้
โดยหากมีการถือครองเงินตราต่างประเทศมาก ผลที่ตามมาคือการใช้เงินบาทที่น้อยลง การดูแล เงินบาท ดูแลระบบการเงินจะทำได้ยากขึ้น ทำให้ยากต่อการเข้าไปดูแลเงินเฟ้อ และการดูแลระบบการเงินมีประสิทธิภาพน้อยลง
อย่างไรก็ตามเกณฑ์ที่ก.ล.ต.ออกมากำกับ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้ การกำกับของก.ล.ต.นั้นจะสามารถดูแลในเรื่องเสถียรภาพทางการเงินได้ เพราะผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต.เป็นผู้ให้บริการ ที่สำคัญในประเทศไทย
นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เกณฑ์กำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปชำระค่าสินค้าและบริการ โดยห้ามโฆษณา ชักชวน ไม่เปิดวอลเล็ต โอนสินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ โดยมีผลตั้งแต่1เม.ย.นี้เป็นต้นไป แต่เกณฑ์นี้ไม่มีผลกระทบสำหรับผู้ที่ลงทุน ยังลงทุนปกติได้ เพียงแต่ห้ามในส่วนนำมาชำระสินค้าบริการเท่านั้น
สำหรับปัจจุบันมีผู้ประกอบการ ภายใต้การกำกับของก.ล.ต. 4 รายได้ดำเนินการสนับสนุนให้นำไปชำระราคา ซึ่งก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.ได้มีการหารือ ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าใจ และพร้อมปรับ การดำเนินธุรกิจเพื่อยกเลิกการดำเนินการ ดังกล่าว ซึ่ง ก.ล.ต. มีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการ ดังกล่าวแก้ไขการดำเนินการ 30 วัน นับตั้งแต่ กฎหมายมีผลบังคับใช้
”ที่ผ่านมานั้นมีการใช้คริปโทฯสามารถชำระค่าซื้อคอนโด ซื้อรถ และใช้ในห้าง โรงหนังต่างๆด้วย หรือการดำเนินการที่จุดประสงค์เพื่อชำระราคาในวงกว้าง ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะ ไม่สามารถทำได้”
สำหรับขณะนี้ก.ล.ต.อยู่ระหว่าง การพิจารณาออกเกณฑ์กำกับดูแล ยูทิลิตี้โทเคน พร้อมใช้ คาดจะเปิดรับฟัง ความคิดเห็น(เฮียริ่ง)ในเม.ย.นี้ และคาดเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดเร็วสุดไตรมาส3หรือไตรมาส 4 ปีนี้
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ