เหล็กไทย ผ่านจุดต่ำสุด ปี 65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง 5-6%
สถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลก อ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 4/2564 หลังจากที่ทำระดับราคานิวไฮเมื่อช่วงกลางปี 2564 ขยับขึ้นไป 2 เท่า ทะลุ 1,400 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากการที่ “จีน-ญี่ปุ่น” ดูดซื้อวัตถุดิบเหล็กต้นน้ำ ทำให้ซัพพลายตึงตัวทั่วโลก
แต่ทว่าหลังจากนั้น “จีน” ผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กรายใหญ่ของโลกปรับลดลงการผลิต ถือว่าพลิกผันตลาดจากช่วงต้นปี 2564 ที่หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจ จีนดี ความต้องการใช้เหล็กจะปรับตัว ดีขึ้น แต่จากวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อู้ฟู่ที่สุดในจีน และมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ออกมายอมรับใน เดือนมิถุนายนว่า ไม่ได้ชำระตราสารหนี้ ปัญหาหนี้เอเวอร์แกรนด์กดดันให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนครึ่งปีหลังลดลง ความต้องการใช้เหล็กลดลง 1% จากที่ประเมินว่าจะบวกได้เล็กน้อย
ญี่ปุ่นปิดโรงงาน อินเดียแซง
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่ม อุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มปี 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต ความต้องการใช้เหล็กจะเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 1,600 ล้านตัน ขณะที่กำลังการผลิตโลกมีปริมาณ 2,400 ล้านตัน ต่อปี โดยหลังจากวิกฤตเอเวอร์แกรนด์จีน ลดกำลังการผลิตลง แต่ก็ยังคงเป็น ผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกปริมาณ 800 ล้านตัน
ส่วนอันดับ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดย “อินเดีย” ขยับขึ้นมาแทนที่ญี่ปุ่น มีกำลังการผลิต 100 ล้านตัน ส่วนญี่ปุ่น มีการปิดโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่หลายโรงงงาน เช่น เช่น นิปปอนสตีล อันดับ 1 เจเอฟอีสตีล อันดับ 2 ก็ทยอยปิด โรงถลุง ทำให้กำลังการผลิตภาพรวมเหลือไม่ถึง 90 ล้านตัน
”ฝั่งอินเดียได้เพิ่มกำลังการผลิตเหล็กมาเป็นอันดับ 2 ของโลก จากที่รัฐบาลอินเดีย มีนโยบายสนับสนุนการใช้เหล็กในประเทศ เพิ่มขึ้น ตลาดอินเดียยังเล็กและมีโอกาสโตขึ้นอีกเยอะ เพียงแต่ในช่วงไตรมาส 3 ราคาเหล็กในอินเดียไม่ค่อยดี ก็มีการส่งออกมาต่างประเทศจำนวนมาก และพอเศรษฐกิจในอินเดียดีขึ้นก็ปรับลดการส่งออกลง”
ส่วนปัจจัยราคาพลังงานปรับสูงขึ้นนั้น ถือว่าได้รับผลกระทบกันทั้งโลกไม่เฉพาะแค่ไทย ซึ่งเหล็กเป็นสินค้าคอมโมดิตี้ ก็มีผลตามไปด้วย แต่ในส่วน “ไทย” เราต้องพึ่งพาเหล็กนำเข้าจำนวนมาก ฉะนั้น ก็ต้องตามตลาดโลก หากเศรษฐกิจทุกประเทศปรับตัวดีขึ้นหมด วัคซีนฉีดได้ทุกประเทศครบแล้ว เริ่มเปิดได้เกือบ ทั่วโลก ความต้องการใช้เหล็กดีขึ้นทั่วโลก “สิ่งที่น่ากลัวจะเป็นเรื่องเหล็กขาดมากกว่าเรื่องการปรับราคาขึ้น-ลง” นั้น เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะเหล็กเป็น สินค้าที่มีผู้ผลิตนับหมื่นรายทั่วโลกเทียบกับบางสินค้ามีผู้ผลิตไม่กี่สิบราย ดังนั้น การควบคุมปริมาณหรือราคาฮั้วโลกทำได้ยาก
ดีมานด์เหล็กไทยฟื้น
สำหรับ สถานการณ์เหล็กในประเทศไทยปีหน้ามีแนวโน้มที่ความต้องการใช้เหล็กจะเติบโตขึ้น 5-6% หรือประมาณ 20 ล้านตัน เป็นอัตราเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่เพิ่มขึ้น ถึง 15% หรือประมาณ 18 ล้านตัน ถือเป็นปีที่ความต้องการใช้เหล็กของ ไทยฟื้นตัวเร็ว อาจจะเรียกว่าเร็วที่สุดในอาเซียนที่ฟื้นตัวเพียง 5-6%
”เราผ่านจุดต่ำสุดเมื่อปี 2563 มาแล้ว ราคาเหล็กและปริมาณเหล็กก็ลดลงต่ำสุดในรอบในหลายปี ปี 2564 ก็กระเตื้องขึ้น ในแง่ราคา ปีหน้ามีโอกาสจะฟื้นตัวเท่ากับปีก่อนโควิด ถ้าเราใช้เหล็กเกิน 20 ล้านตัน โตจากปีนี้ 5% เท่ากับเราก็ฟื้นก่อนโควิด แล้ว ใช้เวลาฟื้นตัวเร็วมากแค่เพียง 2 ปี ปัจจัยหลักมาจากนโยบายการส่งเสริม การใช้เหล็กที่ผลิตได้ในประเทศในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้ได้สัดส่วน local content สูง และล่าสุดมีปัจจัยเรื่อง การผ่อนเกณฑ์ LTV ซึ่งน่าจะมาช่วยหนุนการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ในแนวราบได้”
ขึ้นค่าขนส่งกระทบเล็กน้อย
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงจากการปรับขึ้น ค่าขนส่งในประเทศจากต้นทุนราคาน้ำมันนั้น ทางกลุ่มเหล็กได้รับรู้ปัจจัย นี้ไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะกลุ่ม ผู้ประกอบการขนส่งได้ปรับขึ้นราคากับ กลุ่มเหล็กไปแล้วก่อนหน้านี้ เพียงแต่ สัดส่วนต้นทุนนี้น้อยเพียง 1% เทียบกับ สัดส่วนต้นทุนหลัก ซึ่งมาจากวัตถุดิบ อีกทั้งสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลก ไม่ได้ปรับสูงขึ้น
”หลังจากผ่านจุดพีกเมื่อกลางปีมา ตอนนี้น่าจะอยู่ในจุดขาลงจึงไม่ได้ปรับราคา โดยสัญญาก่อสร้างต่าง ๆ ที่เจรจาไว้แล้ว จะยังใช้ต้นทุนที่ระดับราคาเดิม แต่ก็ อยู่ที่เทอมการขายของแต่ละราย ถ้า ขายแบบขนส่งถึงที่ก็อาจจะขาดทุน เพราะไม่สามารถไปปรับเพิ่มราคาไม่ได้ ถ้าเขาขายแบบหน้าโรงงานลูกค้าขนส่งเอง ก็ไม่เกี่ยวกับโรงงาน”
อย่างไรก็ตาม จากการที่สถานการณ์ราคาเหล็กลดลง มาตรการการไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) เหล็ก ซึ่งไทยได้ ผ่อนผันการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาเหล็กแพงขึ้น ควร กลับมาดำเนินการต่อเพราะตอนนี้ สถานการณ์ราคาลดลงแล้ว ไม่ควร ต้องผ่อนหรือยั้งแล้ว ควรพิจารณาตามความจำเป็นตามปกติ โดยเฉพาะ เอดีเหล็กทินแพลตสำหรับผลิตกระป๋อง หากพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ส่งมาขายในไทย ถูกกว่าประเทศต้นทางก็ต้องใช้มาตรการเอดี
สต๊อกเท่าที่จำเป็น
ในส่วนการปรับแผนบริหารจัดการแผนการสต๊อกเหล็กนั้นต้องยอมรับว่า ขณะนี้โรงงานเหล็กต่างปรับแผนมา สต๊อกเท่าที่จำเป็น เพราะเหล็กเป็น สินค้าโภคภัณฑ์ (คอมโมดิตี้) ที่ราคา ปรับขึ้น-ลง ประกอบกับเรื่องการขอ สินเชื่อจากธนาคารทำได้ยากกว่าแต่ก่อน จึงไม่มีรายใดสต๊อกจำนวนมาก
”โรงงานเหล็กก็พยายามสต๊อกเท่าที่จำเป็น เพราะไม่มีใครกล้าตุน ถ้าสต๊อกไว้แล้วราคาลดลงก็จะกระทบและ ในส่วนของเงินทางแบงก์ก็ไม่อนุมัติอยู่แล้ว ผู้ผลิตเหล็กน่าจะมี inventory เท่าที่จำเป็น”
ส่วนปัจจัยเสี่ยง เรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และปัญหาค่าระวางเรือไม่กระทบสินค้าเหล็ก เนื่องจากขนส่ง เป็นเบราซ์ไม่ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์
ขณะที่ปัจจัยกรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศจะเลิกใช้มาตรการ ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 232 นั้น ข้อเท็จจริงคือยังไม่เลิกใช้ สหรัฐเพียง ประกาศยกเว้นและให้โควตากับยุโรป เท่านั้น แต่ยังใช้มาตรการนี้กับเหล็ก ของประเทศอื่น ๆ เช่นเดิม ดังนั้น ปัจจัยนี้ไม่ได้เป็นบวกต่อไทย
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ