ธุรกิจโอดกระทบ สาหัส น็อคอสังหาฯ-ร้านอาหาร
ภาคธุรกิจช็อกมาตรการด่วน ปิดแคมป์ก่อสร้าง-ห้ามนั่งทานในร้าน 30 วัน ผู้ประกอบการ”สาหัส” อสังหาฯ แนะอนุญาตแคมป์กับไซต์งานอยู่ที่เดียวกันทำงานได้ ประหยัดงบเยียวยา “ร้านอาหาร” เล็งปิดบางสาขา ให้พนักงานหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน จี้รัฐหนุนวัคซีน เงินเยียวยา เช่นเดียวกับกิจการอื่น
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ออกคำสั่งลงวันที่ 26 มิ.ย.2564 เพื่อปรับพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือ พื้นที่สีแดงเข้มจากเดิม 4 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการและสมุทรสาคร โดยมีมาตรการเข้มงวดขึ้น เช่นการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน การปิดแคมป์ก่อสร้าง
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หลังจากมีคำสั่ง ปิดแคมป์คนงาน 1 เดือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ตั้งแต่วันนี้ (28 มิ.ย.) ยังสับสนแนวทาง ปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแต่มาตรการนี้กระทบรุนแรงจาก 3 ปัจจัย คือ
1.หยุดกิจกรรมก่อสร้างและธุรกิจเชื่อมโยงต้นน้ำและปลายน้ำมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีตัวคูณทวีทางเศรษฐกิจสูงจึงกระทบเศรษฐกิจสูง
2.ต้องใช้งบชดเชยแรงงาน 3.ต้องใช้กำลังทหาร ตำรวจหรือฝ่ายปกครองกำกับดูแลจำนวนมาก ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะที่ไม่หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ คือ 1.กรณีที่แคมป์ คนงานกับไซต์งานอยู่คนละที่ควรคุมการเดินทางระหว่างแคมป์คนงานกับไซต์งาน 2.กรณีแคมป์คนงานกับไซต์งานอยู่ที่เดียวกันควรควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่
3.ทั้งสองกรณีใช้กำลังทหารตำรวจหรือฝ่าย ปกครอง รวมถึงกำลังคนผู้ประกอบการ ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อลดงบประมาณ
4.ตรวจเชิงรุกสำหรับแรงงานที่ติดโรคก็แยกไปรักษา ส่วนแรงงานปกติก็ทำงานต่อ ซึ่งรัฐบาลไม่เสียงบเยียวยาเพราะแยกคนป่วยออกไป 5.รัฐบาลควรนำโมเดลตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร มาล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่และมีมาตรการคุมเข้มในรัศมีรอบนอก
หวังมาตรการแก้ปัญหาได้จริง
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร กล่าวว่า คำสั่งปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน เป็นเรื่องสุดวิสัยเพื่อแก้ปัญหาระบาด ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ พร้อมให้ความร่วมมือแต่อยากให้มาตรการตอบโจทย์ การระบาดและเศรษฐกิจด้วย ซึ่งมาตรการนี้กระทบผู้ประกอบการอสังหาฯ ในการส่งมอบโครงการให้ผู้ซื้อที่รอการโอน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องการผิดสัญญากับลูกค้า และความล่าช้าทำให้มีต้นทุนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่าย
”หากแคมป์คนงานกับไซต์งานอยู่รั้วเดียวกันไม่ควรจะหยุดงาน ถ้าไม่ได้ติดโควิด รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเยียวยา เพราะคนงานได้รายได้เต็มจากการทำงาน เท่ากับประหยัดงบที่มีจำกัด ซึ่งคนงานอยากได้เงินเต็มๆ ไม่ใช่แค่ครึ่งหนึ่ง และธรรมชาติของคนงานรับเงินค่าจ้างมาใช้จ่ายบริโภควันต่อวันไม่ได้มีเงินเก็บเหมือนมนุษย์เงินเดือน”
ขณะเดียวกันการหยุดกิจกรรมก่อสร้าง 1 เดือน ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักแต่มีโอกาสกลับมา ซึ่งจะเร่งสร้างให้ทันด้วยโอที แต่แรงงานที่หายไปกลับมาทำงานได้ตามปกติ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบตามมาภายหลัง เพราะจำนวนแรงงานลดลง
แนะรัฐบาลต้องมอง2ด้าน
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับแนวทาง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่พยายามเร่งโอนเพราะมีคำสั่งให้ทุกแคมป์ก่อสร้างต้องหยุดทั้งหมด
”อยากให้รัฐบาลมอง 2 ด้านทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพควบคู่การออกมาตรการแต่ละครั้ง”
ส่วนบริษัทได้รับผลกระทบชะลอเก็บรายละเอียดงานโครงการคอนโดมิเนียมที่กำลังแล้วเสร็จ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเดอะทรี พัฒนาการ และ เดอะ ไพรเวซี่ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ จากเดิมเสร็จเดือน ต.ค.นี้ อาจเลื่อนเป็นเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งยอมรับว่ากังวลมาก เพราะ 2 โครงการเป็น ความหวังของปลายปี และเป็นช่วงที่ยอดโอน สูงสุดคิดเป็น 30% เพราะกลุ่มลูกค้ารอโอน เป็นคนไทย 80% ที่เข้ามาโอนมูลค่า 400-500 ล้านบาท ดังนั้นอาจหันมาเน้น โครงการแนวราบกรุงเทพฯและปริมณฑล
น็อคธุรกิจล้มทั้งยืน
นายบุญยง ตันสกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารร้านปิ้งย่าง อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซน กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการคาดว่ามีคำสั่งห้ามนั่ง รับประทานที่ร้านอีก แต่การห้าม 30 วัน นานเกินไป และกระทบรายย่อยหนัก
”ครั้งนี้น็อคธุรกิจล้มทั้งยืน เพราะวัตถุดิบที่สต็อกไว้เสียหาย กระแสเงินสดหดหายและทุกครั้งออกมาตรการมาไร้เยียวยาภาคธุรกิจ”
ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 14 วัน ซึ่งผู้ประกอบการยังบริหารจัดการสภาพคล่องและประคองธุรกิจได้ เมื่อยืดเยื้อถึง 30 วัน เชื่อว่าทุกรายจะพิจารณาการ “ปิดร้าน อาหารชั่วคราว” ในร้านที่ไม่มีลูกค้า และปรับ โมเดลทำดิลิเวอรี่ไม่ได้ เพื่อลดผลกระทบ
เล็งให้หยุดงานไม่รับเงินเดือน
เซ็น กรุ๊ป มีร้านอาหารในเครือหลายแบรนด์รวม 350 สาขา เป็นแฟรนไชส์ราว 200 สาขา มีพนักงานราว 3,000 คน เช้าวานนี้ (27 มิ.ย.) ได้หารือแนวทางให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน
”ธุรกิจร้านอาหารเป็นด่านแรกที่รัฐออกมาตรการควบคุม เมื่อเกิดคลัสเตอร์ใหม่ แต่จากการทำงานใกล้ชิดกับกรมอนามัยพบผู้ติดเชื้อจากร้านอาหารต่ำมาก เพราะร้านดูแลสุขอนามัยดี แต่รัฐไม่มองตรงนี้ ควรพิจารณามีผู้ติดเชื้อตรงไหนควรแก้ไขที่จุดนั้น”
ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐที่ออกมาทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องพิจารณาปิดร้านบางสาขาชั่วคราว ให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้
ส่วนการปรับโมเดลสู่บริการส่งตรงถึงบ้าน หรือ ดิลิเวอรี่ นั้น ผู้ประกอบการ ทุกรายไม่สามารถปรับตัวเหมือนกัน เช่น ร้านบุฟเฟ่ต์ เพราะไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคไม่นิยมรับประทานที่บ้าน แต่ต้องการนั่งที่ร้าน ดังนั้น แบรนด์อากะ 26 สาขา จึงได้รับ ผลกระทบหนัก
จี้รัฐหนุนวัคซีน-เงินเยียวยา
นายวิน สิงห์พัฒนกุล เจ้าของร้านไวน์ ไอ เลิฟ ยู และร้านชอคโกแลตวิลล์ กล่าวว่า หลังมีคำสั่งออกมาสร้างความตกใจให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมาก เพราะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสาหัส ร้านหลายรูปแบบไม่สามารถปรับตัวให้บริการดิลิเวอรี่ได้ เช่น ร้านหรูหรือไฟน์ไดนิ่ง แม้บางรายขยายบริการดิลิเวอรี่แต่อาจต้องประสบภาวะขาดทุนจากการแบกรับค่าการตลาด (จีพี) สูง
เมื่อออกมาตรการมาแล้ว อยากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 2 ข้อ 1.เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงาน ผู้ประกอบการร้านอาหารภายใน 30 วัน เพื่อให้การล็อกดาวน์ครั้งนี้เจ็บแต่จบ หากกลับมาเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้วันที่ 1 ก.ค. จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคกลับมาใช้บริการ 2.การให้เงินช่วยผู้ประกอบการ เพราะการล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจอยู่ในภาวะเลือดไหลหมด
”ถ้ารัฐให้เงินอย่างเดียว แต่ไม่ให้วัคซีนแก่ธุรกิจร้านอาหารเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่จบ อาจเปิดปิดแบบนี้ตลอด ขณะเดียวกัน 30 วันที่ร้านต้องปิดให้บริการ ผู้ประกอบการพยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ แต่กินเวลายาวนานเหลือเกิน จนไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว”
หอฯ-สอท.แนะเยียวยา
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การประกาศดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ควบคุมการระบาดมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจการเปิดใน 120 วัน ที่จำเป็นต้องคุมการระบาดที่กรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจก่อน
ทั้งนี้ การประกาศปิดพื้นที่ไม่ควรนานเกินไปเพราะกระทบเศรษฐกิจ รวมทั้ง ควรมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลืออย่าง เข้มข้นและตรงถึงผู้ประกอบการ การประกาศครั้งนี้ถึงแม้จะจำกัดบางพื้นที่ แต่หลายธุรกิจกระทบซ้ำ สะสมมาหลายระลอก โดยเฉพาะ ร้านอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคบริการที่ อาจจะตกงานในอนาคตอีก เพราะกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด
”สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้ คือ การเร่งจัดวัคซีนลงพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่มีการระบาดมากเพื่อการคุมการระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการล่าสุดเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ แต่หากไม่ได้ผลอาจขยายสู่การล็อกดาวน์บางธุรกิจที่เสี่ยงสูง
ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือคนจนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการครั้งนี้ เช่น คนงานแคมป์ก่อสร้าง ลูกจ้างร้านอาหาร รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการที่หยุดดำเนินงาน เช่น การเสริมสภาพคล่อง การช่วยชดเชยค่าแรง การลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ