อสังหาฯชงรัฐเลิกLTVเลื่อนภาษีที่ดินฯสู้โควิด
สมาคมอสังหาฯไทย หวั่นพิษโควิด-19 กระทบภาคธุรกิจอสังหาฯรุนแรง เสนอให้ยกเลิกมาตรการ LTV เลื่อนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตือน ผู้ประกอบการหนี้หุ้นกู้ ตั๋วบีอี เยอะ รีบเคลียร์ พร้อมส่งเสริมให้มีสถาบัน หนุนความเชื่อมั่นแบงก์ปล่อยสินเชื่อ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “รวมพลัง อสังหาฯ 5 ภูมิภาค ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ซึ่งจัดโดยเทอร์ร่าบีเคเค สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาคทั่วไทย ว่าแนวทางส่งเสริมให้ภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถกลับมาฟื้นตัว ท่ามกลางการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีหลายประเด็น ได้แก่ ประการแรก ควรยกเลิก มาตการกำกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย “Loan to Value หรือ LTV” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งกำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่จะเข้ามาซื้อเพื่อการลงทุน ซึ่งจะช่วยดูดซัปพลายภายในระบบได้ ประการที่สอง เรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์แน่นอน และเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2563 จะมีการเก็บภาษีตามที่กฎหมายระบุไว้ ประการที่สาม การสร้างกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ซึ่งเราก็กังวล หากธนาคารสวมหมวกกันน็อก มอง ทุกธุรกิจเสี่ยงหมด ก็น่าเป็นห่วง ดังนั้น ที่ผ่านมา ในระบบเคยมีกลไกในการฟื้นความเชื่อมั่น ผ่านบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC) การเข้าไปรับซื้อหนี้สินเชื่อจากธนาคาร เช่น อาชีพกัปตันนักบิน เป็นกลุ่มที่มีรายได้ดี แต่วิกฤตครั้งนี้ ทำให้ธนาคารอาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ซึ่งหากมี SMC เกิดขึ้นอีกครั้ง ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการตั้งสำรองในเกณฑ์ที่สูง แต่ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง SMC เป็นภาพใหญ่ของนโยบายที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ยกเลิก SMC ไปแล้ว
”ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ แต่หากเกิดความชัดเจนในเรื่องของวัคซีนป้องกันแล้ว ก็จะเป็นการฟื้นความ เชื่อมั่นได้ ซึ่งผลจากโควิด-19 ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก่อน ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหมือนมะเร็ง ช่วง 3 เดือนข้างหน้า เรายังทนได้ แต่ถ้าปล่อยไปถึงไตรมาส 4 คิดว่าลำบาก คล้ายๆวิกฤตปี 2540 ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ถูกกระทบและล้มกระจาย ยิ่งตอนนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใดมีหนี้เยอะ ก็จะลำบาก บริษัทใดออกหุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน และจะ ครบดีลจะต้องหาวิธีบริหารสภาพคล่องให้ดี เพราะประเมินว่าปลายปีจะมีตัวเลขครบไถ่ถอนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ทางออกของผู้ที่ออกหุ้นกู้ หรือตั๋วบีอี ก็ต้องไปยืดหนี้ตัวนี้ออกไป แม้ว่าแบงก์ชาติจะมีการเข้ามาช่วย เหลือตราสารหนี้ในระบบ แต่จะเน้นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี”
อย่างไรก็ตาม ในภาวะแบบนี้ จะเห็นผู้ประกอบการแข่งขันการลดราคาขายโครงการที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการายใหญ่ มีการจูงใจผู้ซื้อ ลดกระหน่ำถึง 50% ทำให้มีลูกค้าเข้าไปซื้อเยอะ ส่วนผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก การจะใช้เรื่องราคามาทำตลาดเหมือนรายใหญ่แล้วนั้น จะยิ่งทำให้ ธนาคาร (เจ้าหนี้) เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น และถ้าเร่งการขายกันมากแล้ว เกิด 3-4 เดือนข้างหน้ามีปัญหาขึ้นมา เช่น ลูกค้าไม่โอนห้องชุดหรือบ้าน ธนาคารปฏิสินเชื่อสินเชื่อ และลุกลามไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่จะต้องรับอาคารหรือห้องชุดมาแทนชำระค่าก่อสร้าง และหากผู้รับเหมาไม่มีสภาพคล่องไปซื้อวัสดุก่อสร้างแล้ว จะกลายเป็นปัญหาตามมาสู่ระบบก่อสร้างอีก
นายปรีชา กุลไพศาลธรรม นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี กล่าวสนับสนุนให้รัฐยกเลิก LTV เนื่องจากเป็นมาตรการที่ส่งผล กระทบกับกำลังซื้อ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการเดือนเมษายน 2562 ตลาดหดตัวลงไป 20% และการให้รัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นำเสนอดอกเบี้ยพิเศษเช่น 0% นาน 3 ปี เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจที่จะซื้อและโอนที่อยู่อาศัยได้ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษในเรื่องตกแต่ง และน่าจะขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการ โอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เหลือรายการ 0.01% ครอบคลุมทุกระดับราคา
”ผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ตอนนี้ก็พยายามช่วยเหลือ ตนเอง ลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลงไป แต่หากสถานการณ์ลากยาวเกินกว่า 3 เดือน จะเป็นเรื่องลำบาก จะเห็นผู้ประกอบการบางรายต้องปิดโครงการชั่วคราว”
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา