ธปท.ห่วง 3 เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ

02 Aug 2023 347 0

 

          มั่นใจท่องเที่ยว-รายได้บริการช่วยดันให้โตได้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ด้วยภาคท่องเที่ยวและรายได้ภาคบริการจับตาภัยแล้งกระทบภาคเกษตร เริ่มเห็นส่งออกฟื้นน้อยๆ แต่ไม่ดีพอจะเป็นบวกเทียบปีก่อน ต้องรอถึงปลายปีจะมีสิทธิ์ฟื้น

          น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.66 และทิศทางในครึ่งปีหลัง ว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก และเดือน มิ.ย.ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และเชื่อว่าครึ่งปีหลังยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ 1.ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ซึ่งจะกระทบต่อภาคส่งออกของไทย 2.การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ที่ยังไม่ชัดเจนหากล่าช้าไม่มากนัก การใช้งบประมาณตามกรอบงบประมาณเดิมยังช่วยประคองเศรษฐกิจได้ในระยะหนึ่ง และ 3.ผลกระทบของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มเปราะบาง ซึ่งกระทบทั้งการใช้จ่าย และความสามารถชำระหนี้

          สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเดือน มิ.ย.ยังคงขยายตัวต่อเนื่องมาจากภาคท่องเที่ยว และรายได้ภาคบริการที่ดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการขยายตัว 15.8% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว 12.91 ล้านคน มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.5% แต่หากเทียบรายปี การส่งออกเดือน มิ.ย.66 ลดลง 5.9% “การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังทรงๆ โดยเดือน ก.ค.66 การส่งออกเทียบรายปีน่าจะยังติดลบ แต่ช่วงปลายปีน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดจะดีขึ้น และวัฏจักรวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้น แต่การส่งออกที่ยังไม่ดีมาก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ 0.2% จากเดือนก่อนหน้าและติดลบ 5.2% เมื่อเทียบรายปี”

          ส่วนการบริโภคภาคเอกชนเดือน มิ.ย.ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยลดลง 0.3% แต่ขยายตัว 6.5% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนส่วนหนึ่งมาจากการเร่งส่งมอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตามหากมองด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค แต่ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังกดดันการบริโภคในภาพรวม ทำให้ต้องจับตาผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น

          ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อน 1.8% และลดลง 1.6% เมื่อเทียบรายปี จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง โดยเฉพาะมีการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งมากในเดือนก่อน และการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิงที่ลดลง และสินค้าอุปโภคบริโภค

          ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ แต่ต้องจับตาราคาผักและผลผลิตการเกษตรอื่นๆที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากดุลการค้าที่ดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน

         ”จากการดูข้อมูลเร็วๆในเดือน ก.ค.เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยยังมีอัตราการค้นหาข้อมูลการเดินทาง เที่ยวบิน และที่พักในไทยของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือน ก.ค.ลดลงในภาคการผลิต ขณะที่ภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ดี ชี้ให้เห็นทิศทางการขยายตัวในอนาคต”

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button