เราชนะ โอนงวดแรก21พ.ค.

08 May 2021 605 0

          คลังแจง 6 มาตรการเยียวยา เดินหน้า “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” ก่อน โอนงวดแรก 21 พ.ค.นี้ ส่วน 4 มาตรการที่เหลือ คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้-บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มไร้สมาร์ทโฟน รอโควิดซาก่อนค่อยเริ่ม โดยคนละครึ่งจะเปิดรับลงทะเบียนเพิ่มอีก 16 ล้านคน ยอมรับยิ่งใช้ยิ่งได้ เน้นดึงคนฐานะดีมาช่วยใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

          น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การทยอยออกมาตรการเยียวยา เติมเงิน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวม 6 มาตรการนั้นจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 1% จากปัจจุบันที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะมีอัตราการขยายตัวที่ 2.3% โดย สศค.จะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน ก.ค.นี้ ขณะเดียวกันต้องรอดูการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในวันที่ 17 พ.ค.นี้อีกครั้ง

          ทั้งนี้ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเร่งด่วน 2 มาตรการ คือ โครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน โดยเป็นมาตรการเติมเงินให้คนละ 2,000 บาท แบ่งเป็น 2 งวด เมื่อ ครม.อนุมัติ กระทรวงการคลังจะโอนเงินให้ผู้รับสิทธิเราชนะ 32.9 ล้านคน งวดแรก 1,000 บาท วันที่ 21 พ.ค.นี้ และงวดที่ 2 อีก 1,000 บาท วันที่ 28 พ.ค.นี้ ขณะที่กระทรวงแรงงานจะโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ ม.33 เรารักกัน รวม 9.27 ล้านคน งวดแรก 1,000 บาท วันที่ 24 พ.ค. และงวดสองอีก 1,000 บาท วันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน สามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64

          น.ส.กุลยา กล่าวต่อว่า ส่วนอีก 4 มาตรการที่เหลือ คือ โครงการคนละครึ่ง, โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้, โครงการเพิ่มกำลังซื้อ ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ หรือกลุ่มไร้สมาร์ทโฟน 2.5 ล้านคนนั้น ต้องให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่คลี่คลาย เพื่อให้ประชาชนออกจากบ้านมาใช้สิทธิจับจ่ายใช้สอยด้วยความปลอดภัยห่างไกลโควิด

          ซึ่งตามแผนการดำเนินการจะอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 ดังนั้น จึงมีเวลาพิจารณาและเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้ โดยโครงการคนละครึ่งจะได้คนละ 3,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 1,500 บาท ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิเดิมมี 15 ล้านคน รัฐก็จะเติมเงินให้เมื่อเริ่มโครงการ ส่วนผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีก 16 ล้านคน จะเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์คนละครึ่ง เชื่อว่าไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้แน่นอน

          สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ ครม. โดยหลักการเบื้องต้นจะเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนผ่าน www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ก่อน จากนั้นจะต้องเติมเงินของตัวเองเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้ากับร้านที่เข้าร่วมโครงการ ยกเว้น สุรา ลอตเตอรี่ บุหรี่ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องอบายมุข โดยทุกการใช้จ่ายจะได้รับเงินอี-วอชเชอร์คืนกลับเข้าแอปฯเป๋าตัง 10-15% สูงสุดไม่เกินคนละ 7,000 บาท โดยกำหนดช่วงการใช้จ่าย 1-40,000 บาทแรก ได้รับวงเงินคืนเข้าแอปฯเป๋าตัง 10% หรือไม่เกิน 4,000 บาท แต่ถ้าใช้จ่ายตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท จะได้รับเงินคืนเพิ่มเป็น 15% หรือเพิ่มได้อีก 3,000 บาท รวมวงเงินที่ได้รับคืน 7,000 บาท

          ”กระทรวงการคลังต้องรอสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดคลี่คลายก่อน เพราะหากเติมเงินให้ใช้สิทธิคนละครึ่ง คนก็จะออกจากบ้านมาใช้สิทธิกัน ขณะที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ ดังนั้น อดใจรออีกนิด เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว กระทรวงการคลังเติมเงินให้ และออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างปลอดภัยห่างไกลโควิด”

           น.ส.กุลยา กล่าวว่า โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นโครงการที่ต้องการให้ผู้ที่มีรายได้สูงมาใช้สิทธิ เพราะยิ่งใช้ ก็จะยิ่งได้ส่วนลด รับเงินคืนไม่เกิน 7,000 บาท และเงินส่วนลดที่ได้สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยตามร้านค้าร้านอาหารเครื่องดื่ม ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะมีร้านค้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการและติดป้ายให้เห็นชัดเจนทั้งนี้กระทรวงการคลังคาดว่าโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้จะมีคนที่มีรายได้สูงออกมาจับจ่ายใช้สอยและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจราว 268,000 ล้านบาท ส่วนโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือกลุ่มไร้สมาร์ทโฟน 2.5 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะโอนเงินให้เดือนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งนำเงินไปใช้จ่ายได้ในเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button