ส.อสังหาฯหวั่นแบงก์เข้มปล่อยกู้ กระทบสภาพคล่องทำตลาดสะดุด

28 May 2020 572 0

          อสังหาฯ หวัง ธนาคารพาณิชย์ลดความ เข้มงวดปล่อยสินเชื่อบ้าน หวั่นกระทบผู้ประกอบการมีปัญหาขนาดสภาพคล่องได้ ด้านศูนย์ข้อมูลฯ คาดสิ้นปี 63 สต๊อกเหลือขาย พุ่งสู่ระดับ 212,750 หน่วย เงินจมกว่า 1.34 ล้านล้านบาท

          นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลใน ขณะนี้ คือ เรื่องปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อบ้าน เพราะธนาคารมองว่า ลูกค้าทุกกลุ่มมีความเสี่ยงหมด ทำให้สินเชื่อที่จะเข้าสู่ระบบ ยังไม่ถูกปล่อยเข้าสู่ระบบ แม้ว่า เรื่องมาตรการการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการปลดล็อกเรื่องการปล่อยสินเชื่อในเพดาน 100% ได้

          “สิ่งที่เราเห็น ผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อก โดยเน้นเรื่องสงครามราคา เราจะเห็นว่า ลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมโครงการ จะสอบถามทันที จะลดให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยเปรียบกับโครงการคู่แข่งที่ลดราคาถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งเราจะเห็นว่า ผู้ประกอบการรายเล็ก กำไรลดกันไปเยอะ แต่บริษัทขนาดใหญ่ ยังไม่มีการลดมาร์จิ้นเลย ทำให้ยอดขายตกลงเยอะมาก”

          ด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวถึงรายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่กรุงเทพฯ- ปริมณฑล นับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย โดยภาพรวมมีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวนรวม 209,868 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกปี 2562 ประมาณ 7.3% โดยมีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ลดลงติดลบ 21.7 % ในขณะที่จำนวนหน่วยเหลือขายรวมเพิ่มขึ้นถึง 15.6% ในจำนวนหน่วยเหลือขายทั้งหมด เป็นหน่วยสร้างเสร็จเหลือขาย 40,792 หน่วย มูลค่ารวมกว่า 157,140 ล้านบาท และคาดการณ์ปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมจำนวนประมาณ 212,750 หน่วย มีมูลค่าประมาณ 1,340,233 ล้านบาท

          จากการสำรวจภาคสนามในช่วงครึ่งแรกปี 2562 พบว่า มีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขายในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 1,670 โครงการ มีหน่วยเหลือขายจำนวน 151,993 หน่วย เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง ปี 2562 มีจำนวนอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน 56,411 หน่วย ส่งผลให้มีที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายจำนวน 1,714 โครงการ รวมมีจำนวนหน่วยเสนอขาย 209,868 หน่วย และมีอุปทานเหลือขายจำนวน 175,754 หน่วย มูลค่ารวม 765,037 ล้านบาท

          “ภาพรวมของตลาดครึ่งหลังปี 2562 จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเสนอขายในตลาดหากเทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 จะพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 7.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หน่วยเหลือขายที่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 175,754 หน่วย ซึ่งมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 หน่วย เทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 ที่มีหน่วยเหลือขายรวม 151,993 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 15.6 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยเหลือขายสะสมส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากส่วนที่เหลือขายจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ในจำนวนหน่วยเหลือขายทั้งหมดเป็นหน่วยสร้างเสร็จเหลือขาย 40,792 หน่วย มูลค่ารวมกว่า 157,140 ล้านบาท”

          เมื่อพิจารณาจากอัตราการดูดซับ เป็นการสะท้อนภาวะความสมดุล ระหว่างตัวอุปทานอยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาพรวมของอัตราการดูดซับในครึ่งหลังของปี 2562 ลดต่ำลงมาค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวการณ์ขายไม่ดี อุปทานในระหว่างการขายมีจำนวนมากขึ้น แต่อัตราการขายได้ใหม่น้อยลง อัตราการดูดซับจึงลดต่ำลง โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 อัตราดูดซับต่อเดือนของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลลดเหลือเพียง 2.7% ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งมีอัตราดูดซับเฉลี่ย 4.2% โดยอัตราดูดซับต่อเดือนในกลุ่มราคาที่มีอัตราการลดต่ำลงมากที่สุด จะอยู่ในระดับราคาราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไป

          ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลฯคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่สะสมจำนวนประมาณ 79,408 หน่วย และมีหน่วยเหลือขายสะสม 212,750 หน่วย.

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button