ธปท.รวมพลัง เปิดโครงการ'หมอหนี้'เพื่อประชาชน

03 Sep 2021 370 0

          วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ภาคธุรกิจหลายส่วนได้รับผลกระทบ ต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือไปถึงขั้นปิดกิจการถาวร ส่งผลถึงภาคแรงงานที่ขาดรายได้ หรือต้องตกงานไป แต่ละคนต่างก็มีภาระหนี้สินติดตัว ไม่มีรายได้มาชำระหนี้ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ตัวเลข NPL อาจจะสูงมากจนระบบการเงินของประเทศเสียหายไป 

          ทาง ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ การให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมตัว เพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง หรือลงทุนปรับปรุงกิจการ การแบ่งปันประสบการณ์การปรับตัว และปรับธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ตลอดจนการจัดบรรยายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่ตรงจุดตามสถานการณ์ของ ลูกหนี้แต่ละกลุ่ม รวมทั้งการเผยแพร่คลิป และสื่อการสอนต่างๆ เพื่อให้นำไปศึกษาเพิ่มเติม

          นอกจากนี้ ความพิเศษของโครงการหมอหนี้ฯ คือ ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถติดต่อขอคำแนะนำเชิงลึกเพิ่มเติมจากทีมหมอหนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี บสย. (บสย. FA Center) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษากับหมอหนี้ ผ่านเว็บไซต์โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือติดต่อสอบถามได้ทั้งที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ และสำนักงานภาคของ ธปท. ทั้ง 3 แห่งที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา

          โครงการหมอหนี้ฯ แตกต่างจากสายด่วน 1213 และทางด่วนแก้หนี้ ตรงที่ โครงการหมอหนี้ฯ เป็นช่องทางการขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำเรื่องหนี้ มิใช่ช่องทางรับเรื่องร้องเรียน หรือขอความอนุเคราะห์ของผู้ให้บริการทางการเงิน ครอบคลุมการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงิน การปรับธุรกิจเพื่อหารายได้เพิ่ม และการเตรียมแผนธุรกิจเพื่อขอกู้เงิน ให้คำปรึกษาโดยพิจารณาภาพรวมของหนี้สินที่มีทั้งหมดกับความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จ โดยมุ่งหวังให้ลูกหนี้สามารถบริหารหนี้และดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างยั่งยืน



          นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.นำร่องโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งล่าสุดในเดือน กรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการแล้ว 940 ราย โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ในสาขาการค้า เช่น เครื่องเงิน รถบรรทุก อาหาร วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น สาขาการบริการ เช่น ขนส่งผู้โดยสาร ท่องเที่ยว โรงแรม นวด เป็นต้น และสาขาการผลิต เช่น รถแทรกเตอร์ และโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น

          “ส่วนการดำเนินการระยะต่อไป ธปท.จะประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง การนำแชตบอตมาช่วยตอบคำถามลูกหนี้ ซึ่งจะเริ่มได้ในช่วงปลายปีนี้ หากลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้เอสเอ็มอี เห็นว่ายังต้องการได้รับคำปรึกษาจากหมอหนี้ ก็สามารถลงทะเบียนเข้ามาขอรับคำปรึกษาได้ และจะแจ้งผลการนัดหมอหนี้ภายใน 5 วัน”

          ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บสย.กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย หรือคนตัวเล็ก ส่วนใหญ่ประสบภาวะการเป็นหนี้ และยังไม่มีวิธีแก้ไข ผลสุดท้ายอาจกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้การกู้เงินครั้งต่อไปประสบปัญหามากยิ่งขึ้น ในขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้ต้องใช้ที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง

          “บสย. จึงอาสาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือหมอหนี้ ที่จะตรวจอาการคนไข้ เช็กสุขภาพ วินิจฉัยโรค ก่อนจะทำการรักษาโดยให้ยา หรือผ่าตัดจนหายดี และสุดท้ายฉีดวัคซีนทางการเงินให้พวกเขาไม่กลับมาป่วยอีก ตามเจตนารมณ์ที่จะแก้ปัญหาที่ฐานรากก่อนการอัดฉีดเงินทุนเข้าระบบ เพื่อให้ลูกหนี้มีช่องทางปลดภาระหนี้สิน และพร้อมทำมาหากินเพื่อสร้างรายได้ ตลอดจนสามารถปรับธุรกิจให้กลับมาดำเนินการได้อย่างมั่นคง”

          ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สนใจรับคำปรึกษากับหมอหนี้สามารถลงทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์ www.bot.or.th/app/doctordebt ข้อมูลสำคัญที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในการลงทะเบียน ประกอบไปด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับกิจการ ลักษณะธุรกิจ และปัญหาธุรกิจที่พบข้อมูลทางการเงิน เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย และทรัพย์สิน ปีปัจจุบันและปีก่อนหน้าของกิจการ ข้อมูลภาระหนี้ อัตราการผ่อน และความสามารถในการชำระปัจจุบัน หลังจากลูกหนี้ที่ได้กรอกข้อมูลครบถ้วนและส่งใบสมัครสำเร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อนัดหมายรอพบหมอหนี้ภายใน 5-7 วันทำการ

          ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 13 แห่ง เป็นสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ 1.บสย. 2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5.ธนาคารกรุงไทย 6.EXIM BANK 7.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 9.ธนาคารยูโอบี 10.ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 11.ธนาคารกสิกรไทย 12.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 13.ธนาคารกรุงเทพ

          ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อยู่ระหว่างทยอยเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากมีเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบในระยะต่อไป

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button