ของแพง-ต้นทุนพุ่ง ถึงคิว อสังหาฯ ขึ้นราคา
ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนยัง ยืดเยื้อ กระทบราคาพลังงานปรับ สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย จนเกิดปรากฏการณ์ “ของแพงทั้งแผ่นดิน”ไม่ใช่แค่สินค้าอุปโภคบริโภคต้องเจอแรงถาโถมจากวิกฤตดังกล่าว ยังกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากพิษโควิด-19 ที่รุนแรง ปิดแคมป์ แรงงานขาด ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม
ล่าสุด เหล็ก ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ปรับราคายกแผง ผลพวงจากน้ำมันที่ผันผวนหนัก พันมาถึงเงินเฟ้อ ค่าขนส่ง ยิ่งสงครามยังไม่จบ จากที่ประเมินไว้ต้นทุนก่อสร้างจะปรับขึ้น 3-5% อาจจะทะยานไปถึง 10%
มีเสียงยืนยันจากปากนักธุรกิจในวงการ เริ่มที่ ”จรรยา สว่างจิตร” ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.พี.โอเวอร์ซีส์ สตีล ผู้ค้าเหล็ก ระบุว่า จากราคาน้ำมันและเศษเหล็กจาก ต่างประเทศทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับราคาขายขึ้น เมื่อปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรับขึ้น 2 บาท จาก 24 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 26 บาทต่อกิโลกรัม หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดว่าจะปรับขึ้นอีกเป็น 28 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่สินค้าอื่นๆ ”สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.บุญถาวร กรุ๊ป ศูนย์รวมวัสดุและของตกแต่งบ้าน กล่าวเสริมว่า ปี 2565 ธุรกิจวัสดุก่อสร้างยังคงได้รับความผันผวนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและค่าขนส่ง ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างต้องปรับราคาขึ้นตาม โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตเริ่มทยอยปรับราคาแล้วประมาณ 5-10% เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์
เรื่องตกแต่งก็ไม่น้อยหน้า ผู้ผลิต เฟอร์นิเจอร์ ”ธัญญรักข์ ชวาลดิฐ” กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทเอสบี เฟอร์นิเจอร์ กล่าวว่า ในช่วง 3-4 เดือนจากนี้ เอสบียังไม่มีแผนปรับราคา แม้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ดี หากขึ้นราคาเกรงว่าลูกค้ารับภาระไม่ไหว แต่หากรัฐบาลไม่ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร อาจต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อต้นทุนต่างๆ สูง ส่งผลให้ราคาบ้านต้องขยับตาม จะเริ่มเห็นบ้านต้นทุนใหม่ ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เพราะในช่วงไตรมาสแรก บริษัทอสังหาฯ กำลังเร่งระบายสต๊อกเก่าซึ่งเป็นบ้านต้นทุนเดิม หวังตุนยอดขายตั้งแต่ไตรมาสแรก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเจอปัญหาอะไรหนักหน่วงขึ้นมาอีก ที่ส่งผลให้ผู้ซื้อเลื่อนการตัดสินใจจองหรือซื้อที่อยู่อาศัยหรืออาคารเพื่อการลงทุน
”วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยผลสำรวจราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล ว่า มีบางโครงการปรับราคาขึ้นแล้วตามต้นทุนใหม่ โดยเฉลี่ยบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 6% และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 11% ซึ่งในไตรมาส 2 ปีนี้ จะเห็นปรับราคาอีกจำนวนมาก ตามราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่สูงขึ้น
ปัจจุบันที่อยู่อาศัยที่เปิดขายมีทั้งราคาต้นทุนเดิมและต้นทุนใหม่ แต่มีบางพื้นที่ปรับราคาแล้ว เช่น สมุทรปราการเพิ่มขึ้น 20% คอนโดฯในกรุงเทพฯ เช่น โซนพญาไทเพิ่มขึ้น 8% จากต้นทุนสูงขึ้น จะหาซื้อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่าล้านไม่มีแล้ว
อีกผู้ประกอบการ ”อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ. แสนสิริ กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยสูงขึ้น 5% จากภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก ทำให้บ้านต้องขึ้นราคาตาม คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ จะเห็นราคาบ้านปรับราคาขึ้น 3-5% ในส่วนของแสนสิริซื้อวัสดุก่อสร้างไว้ล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อพยุงต้นทุนและราคาบ้าน
ขณะที่ ”ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า พฤกษายังไม่มีแผนปรับราคาบ้าน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีและยังมีบ้านต้นทุนเดิมเหลืออยู่ แต่จากต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้น บริษัทได้รีดีไซน์แบบบ้านให้ตอบโจทย์ลูกค้า ลดบางฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็น ซึ่งได้ทำมาต่อเนื่อง 2 ปี สามารถลดต้นทุนไปได้กว่า 10% โดยเป็นต้นทุนที่ลดได้ของปีนี้ 2% จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ 2-3% อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนต่างๆ ทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง ทำให้พฤกษา ไม่สามารถสร้างราคาต่ำล้านเหมือนที่ผ่านมา ปัจจุบันราคาขายเริ่มต้นอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท
ที่อั้นไม่ไหวค่ายพร็อพเพอร์ตี้เฟอร์เฟค ทางเอ็มดี “วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต” ย้ำชัดว่า ต้นปี 2565 บริษัทปรับราคาบ้านแล้ว 1-3% ทั้งบ้านสร้างเสร็จและสร้างใหม่ จากต้นทุนก่อสร้างที่ปรับขึ้น 5% คาดว่าราคาจะขยับขึ้นอีก หากสงครามยืดเยื้อ เพราะราคาที่ปรับขึ้นประเมินบนฐานราคาน้ำมันอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเหล็กปรับขึ้น 30-40% แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คาดว่าต้นทุนขยับขึ้นอีกแน่ และหากปูนซีเมนต์ขึ้นราคา ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นขึ้นตาม เช่น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง
ด้าน ”ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการ ผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย กล่าวว่า บริษัทยังมีสต๊อกบ้านสร้างเสร็จ กำลังสร้างและคอนโดฯ สร้างเสร็จเมื่อ 1-2 ปีแล้ว ที่ขายในราคาต้นทุนเดิม จึงยังไม่ปรับราคาขาย แม้ต้นทุนก่อสร้างจะปรับขึ้น 4% บวกลบ แต่อีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีบ้านต้นทุนใหม่ออกมา อาจจะปรับราคาขายโครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ขึ้นอีก 2-3% เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามส่งผลต่อต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ รวมถึงค่าขนส่ง
ช่วงนี้เป็นโอกาสทองของผู้บริโภคจะ ซื้อบ้าน เพราะได้บ้านต้นทุนเดิม ดอกเบี้ยต่ำ มีมาตรการรัฐลดค่าธรรมเนียมโอนและจด จำนอง ซึ่งศุภาลัยมีสต๊อกบ้านและคอนโดฯอยู่ 5,000 ยูนิต มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเปิดขายผสมผสานกับโครงการใหม่
สอดคล้องกับ ”โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า กำลังเร่งขายคอนโดฯสต๊อกเก่าราคาเดิมกว่า 3,000 ยูนิต ราคาเฉลี่ย 1.7 ล้านบาทต่อยูนิต มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้ามียอดขาย 4,000 ล้านบาท ส่วนโครงการใหม่มีแผนจะเปิด 2-3 โครงการในไตรมาส 2 นี้ จะปรับราคาขายขึ้น 5-10% ให้สอดรับต้นทุนที่ปรับขึ้นแล้วทั้งค่าขนส่ง น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรง
”คอนโดฯต่ำล้านที่เราเคยทำตลาด ไม่ใช่ สต๊อกเก่าคงไม่มีแล้ว ต่อไปจะเห็นคอนโดฯ ขนาด 24 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 1.5 ล้านบาทขึ้นไป หรือราคาตารางเมตรละ 8-9 หมื่นบาท ออกสู่ตลาด”
ขณะที่ ”อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น 2-5% เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ผันผวนสูง ขณะที่ผู้ค้า ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างทยอยแจ้งจะปรับราคาขายแล้ว เช่น กระเบื้อง ส่วนเหล็กปรับราคาขึ้นแล้ว 50-60% แต่ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น ดีเวลลอปเปอร์ ต้องปรับราคาขายบ้านขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามภาระต้นทุนใหม่ เนื่องจากต้นทุนก่อสร้างเริ่มขยับอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 1.5-3%
ที่ผ่านมาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยอมแบกรับภาระแทนลูกค้า แต่ปี 2565 มีปัจจัยอยู่เหนือการควบคุมเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ยังไม่รู้จะจบเมื่อไร ราคาน้ำมันที่สูง ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงแรงงานขาดแคลน มาเป็นตัวเร่งให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ถือว่าช่วงนี้เป็นโอกาสของลูกค้าเลือกซื้อ บ้านต้นทุนเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการมีจัด โปรโมชั่นการขายมากมาย และรัฐยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสในห้วงที่อะไรก็แพง แม้แต่ “บ้าน” ของชิ้นใหญ่และเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์
Reference: หนังสือพิมพ์มติชน