"บ้านเคหะสุขประชา"อาคารเช่าโฉมใหม่ใต้ร่มเงา "ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ"
เป้าหมายการจัดสร้างที่อยู่อาศัย จำนวน 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2564 - 2568 ซึ่งการเคหะแห่งชาติมีแผนการดำเนินงานที่จะก่อสร้างปีละ 20,000 หน่วย โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้พักอาศัย ภายใต้โครงการบ้านเคหะสุขประชาตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
โครงการดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพน้อยมาก ที่สำคัญต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เลี้ยงครอบครัว นั่นคือ ที่มาของ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” บ้านเช่าพร้อมอาชีพ
มอบนโยบายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ ดำเนินโครงการบ้านเคหะสุขประชาแล้ว ยังให้สร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานกันไปด้วย ทำให้ประชาชน “มีบ้าน - มีอาชีพ - มีรายได้ - มีสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“โครงการบ้านเคหะสุขประชา” เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และขับเคลื่อนโดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพราะมั่นใจว่าสังคมที่ดีเริ่มต้นจากที่ “บ้าน” ในครอบครัวอบอุ่น และเมื่อได้พักอาศัยในโครงการที่ดี มีคุณภาพ สภาพแวดล้อมดี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับสังคมด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งมอบบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง เป็นโครงการนำร่องแล้ว จำนวน 302 หน่วย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และล่าสุดได้ส่งมอบโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 นับเป็นโครงการที่ 2
ภารกิจที่ท้าทายเช่นนี้ จะไม่เกิดเป็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน ถ้าการเคหะแห่งชาติ ภายใต้การนำทัพของ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการฯไฟแรง ไม่เห็นความสำคัญของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพราะทันทีที่ ครม. ไฟเขียว ก็ได้ระดมความรู้ความสามารถของทีมผู้บริหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ และที่ขาดไม่ได้ คือ ทำผลสำรวจถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในลักษณะ “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่” ทำให้โครงการบ้านเคหะสุขประชา ถูกออกแบบตรงกับความต้องการของผู้เช่า ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความสะดวก สบาย สะอาด มีความปลอดภัยให้ผู้พักอาศัยในโครงการ
โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ตั้งอยู่บริเวณถนนร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ บนพื้นที่ 20.26 ไร่ จำนวน 270 หน่วย ประกอบด้วย บ้านแฝดชั้นเดียว จำนวน 86 หน่วย และบ้านสองชั้น จำนวน 184 หน่วย แบ่งพื้นที่ใช้สอยตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ (แบบ X) พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร กลุ่มผู้มีสถานะโสด (แบบ A) พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร กลุ่มครัวเรือนใหม่ (แบบ B) พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร และกลุ่มครอบครัว (แบบ C) พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร เคาะราคาค่าเช่าเริ่มต้นเพียง 1,500 - 3,000 บาทต่อเดือน
ภายในโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้ายังได้จัดเตรียมพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ซึ่งจะได้รับการพัฒนาในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อรองรับการจ้างงานและสร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาโครงการบ้านเคหะสุขประชาของแต่ละพื้นที่ จะมีอาชีพรองรับผู้อยู่อาศัยถึง 6 อาชีพ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการมีงานทำ มีรายได้ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก - ส่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งจะช่วยให้แต่ละครอบครัวมีรายได้เดือนละ 40,000 บาท
นอกเหนือจาก “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” แล้ว นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังมอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติ ดำเนินการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชน จำนวน 60 สัญญา รวมทั้งสิ้น 32,632 หน่วย โดยมีแผนรับคืนอาคารจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ จำนวน 35 สัญญา รวม 29,966 หน่วย และการรับคืนอาคารจากบริษัทรายเล็ก จำนวน 35 สัญญา รวม 2,666 หน่วย ในระยะแรกการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการนำร่อง จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ และโครงการเคหะชุมชนออเงิน จากนั้นได้ดำเนินการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันได้ดำเนินการรับคืนอาคารเช่าแล้ว จำนวน 33 สัญญา และจะดำเนินการให้ครบภายใน 31 ธันวาคม 2565
จากการพูดคุยกับลูกบ้านที่อาศัยอยู่ในโครงการอาคารเช่าที่การเคหะฯรับคืนมาบริหารเอง ล้วนพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีงาน มีรายได้ ลดค่าใช้จ่าย มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ทำให้สรุปได้ว่า การดูแลชุมชน ดูแลลูกบ้านของการเคหะฯ ไม่แพ้โครงการบ้านจัดสรรของเอกชนเลยทีเดียว!!
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ