ป่วนแรงงานขาด2ล้าน ธุรกิจแย่งต่างด้าวค่าตัวพุ่ง10%
วิกฤตขาดแรงงานลามไม่หยุด เมียนมา กัมพูชา ลาว 2 ล้านคนคืนถิ่นกู่ไม่กลับ ประธาน ส.อ.ท.ชี้ภาคการผลิตทั้งระบบชอร์ต 5 แสนคน อุตฯเครื่องนุ่งห่ม-แปรรูปอาหารป่วน นายจ้างโอดเจอศึกแย่งต่างด้าว เพิ่มค่าจ้าง-สวัสดิการจูงใจ อสังหาฯกระทบไม่น้อยหน้า ดันค่าแรงพุ่ง 10% บ้าน-คอนโดฯสร้างช้า 2-4 เดือน สมาคมรับเหมาฯอ้อนรัฐขยายเวลาก่อสร้าง เมกะโปรเจ็กต์-ขอผ่อนปรนมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ด้านกระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างแจ้งความต้องการ 1 ธ.ค.ก่อนเร่งนำเข้าต่างด้าว MOU
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน 5 แสนคน ขอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลดต้นทุนนำเข้าแรงงาน และอำนวยความสะดวก เพื่อลดปัญหาการนำเข้าแรงงานเถื่อนผิดกฎหมายซึ่งเชื่อมโยงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
”ตอนนี้เอกชนรับได้หากภาระในการนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบถูกต้องมีค่าใช้จ่าย 2 หมื่นต่อคน แต่ขอให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่ใช่ยอมจ่าย 2 หมื่นแล้วยังนำเข้ายาก”
และขอให้รัฐเร่งจัดหาและนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU เพราะขณะนี้แรงงานเมียนมาจำนวนมากต้องการข้ามมาทำงานฝั่งไทย จากปัญหาเศรษฐกิจ-การเมืองภายในประเทศ เช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา และลาว
เครื่องนุ่งห่มขาด 1.5 หมื่นคน
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส.อ.ท. และกรรมการผู้จัดการ บจ.เจ.เอ็ม. แอพพาเรล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแรงงานกลับประเทศหลังโควิด ยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้จำนวนมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว 10% หรือ 15,000 คน
ที่ผ่านมาต้องหาทางออกโดยขยายเวลาทำงาน เพิ่มเงินให้กับแรงงานส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่วนรายใหญ่ที่มีโรงงานในหลายพื้นที่ จะใช้วิธีกระจายการผลิตไปยังโรงงานต่าง ๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการผ่อนคลาย เพื่อผลิตสินค้าส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทัน”
ค่าแรงก่อสร้างพุ่ง 10%
นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีบิลท์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างที่ออกประกาศคุมเข้มช่วงเดือน ก.ค. 2564 ขณะนี้แรงงานที่กลับภูมิลำเนาเริ่มทยอยกลับมาทำงานแล้ว แต่น้อยกว่าเดิมมาก โดยก่อนปิดไซต์โครงการมีคนงาน 4,000-5,000 คน เป็นคนงานของพรีบิลท์ 2,000 คน ซึ่งทำบับเบิลแอนด์ซีลในแคมป์จึงอยู่ครบ และคนงานของซับคอนแทร็กเตอร์ 2,000-3,000 คน ส่วนนี้กลับมาเพียง 1,000 คน ทำให้มีคนงานเพียง 3,000 คน ส่งผลให้งานก่อสร้างล่าช้าพอสมควร
”ถือว่ายังโชคดีที่ปีนี้ไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียมอยู่ระหว่างก่อสร้างทั้งหมด แต่ไตรมาส 1/65 จะครบสัญญาส่งมอบ 2 โครงการ จึงต้องบริหารจัดการโดยย้ายคนงานที่มีอยู่ในมือมาเร่งก่อสร้างโครงการที่ใกล้เสร็จ เพื่อให้ทันส่งมอบ”
ปัญหาขาดแคลนแรงงานส่งผลให้ค่าแรงคนงานของซับคอนแทร็กเตอร์เพิ่มขึ้น 10% อาทิ แรงงานฝีมือในกลุ่มช่างปูกระเบื้องจากเดิม 400-500 บาท/วัน เพิ่มเป็น 440-550 บาท ต้นทุนเพิ่มในส่วนของงานเหมา เช่น งานปูกระเบื้องเดิมจ้างเหมา ตร.ม.ละ 500 บาท เป็น 550 บาท ขณะที่แรงงานก่อสร้างทั่วไป ค่าแรง 370 บาท/วัน
บ้าน-คอนโดฯสร้างช้า 2-4 เดือน
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า โควิด 2 ปี คนงานกลับต่างจังหวัด หรือกลับประเทศจำนวนมาก บางส่วนยังไม่เดินทางกลับมา ทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า เช่น บ้านแนวราบล่าช้าอย่างน้อย 2 เดือน ส่วนคอนโดล่าช้า 3-4 เดือน
สำหรับ บมจ.ริชี่ เพลส 2002 มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน บริษัทมี 4 ไซต์ก่อสร้างโครงการแนวราบ ผู้รับเหมารายใหญ่พยายามหาคนงานให้เพียงพอ แต่หาได้น้อย เช่น ต้องการ 100 คน หาได้ 80-90 คน มีการแย่งตัวคนงาน และเพิ่มต้นทุนค่าแรง 10% จูงใจนอกจากนี้ยังเจอปัญหาต้นทุนพุ่งจากวัสดุก่อสร้าง ปัญหาน้ำมันและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น จะเห็นชัดเจนต้นปี 2565
ต่างด้าวกลับบ้าน 2 ล้านคน
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมอยู่ระหว่างสำรวจบริษัทรับเหมาถึงสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน เบื้องต้นยืนยันว่ายังขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก สถิติต้นปี 2563 มีแรงงานต่างด้าวหมุนเวียนในอุตฯรับเหมาก่อสร้าง 2.8 ล้านคน เมื่อเกิดโควิดทยอยเดินทางกลับประเทศ เหลือแรงงานต่างด้าวในระบบ 5-6 แสนคน ไม่เพียงพอกับไซต์งานก่อสร้างที่มีขณะนี้
”เวลานี้ไซต์ก่อสร้างโครงการของรัฐหลายแห่งก่อสร้างได้ไม่เต็มที่ แม้รัฐยกเลิกเคอร์ฟิวและมาตรการควบคุมแคมป์ก่อสร้างแล้ว ตอนนี้ผู้รับเหมากำลังขอให้หน่วยงานรัฐเลื่อนขยายเวลาสัญญาออกไปก่อน ส่วนจะเลื่อนกี่เดือนกี่ปีกำลังพิจารณาร่วมกัน ที่ผ่านมาต้องขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการยกเว้นการจ่ายค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้า และให้กรมบัญชีกลางออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ” นายกสมาคมกล่าว
ขอวัคซีน 2 เข็มไม่ต้องกักตัว
ทั้งนี้ สมาคมเตรียมรวบรวมข้อเสนอและขอเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อขอความสนับสนุนและความช่วยเหลือจากรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกัน สมาคมขอเรียกร้องไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) และรัฐบาล ในการผ่อนปรนมาตรการด้านการคัดกรองการนำแรงงานเข้าประเทศ โดยขอให้แรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทางแล้ว ไม่ต้องกักตัว (state quarantine) 7-14 วัน ควรใช้มาตรการเช่นเดียวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผ่อนปรนตั้งแต่การเปิดประเทศ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
นายจ้างโอดเจอแย่งแรงงาน
ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานผลิตไก่แปรรูปเพื่อการส่งออก จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทมียอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งมอบได้ตามกำหนด เพราะขาดแคลนแรงงานในการผลิต ขณะที่แรงงานที่มีอยู่ก็ทยอยลาออกจำนวนมาก ส่วนหนึ่งไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นที่จ่ายค่าจ้าง สวัสดิการจูงใจกว่า อย่าง บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ โรงงานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ใน จ.เพชรบุรี ขณะนี้เปิดรับสมัครพนักงานนับพันคน โดยเปิดจุดรับสมัครแรงงานทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากโรงงานแปรรูปอาหารทะเลส่งออกใน จ.สมุทรสาคร ที่ระบุว่า สมุทรสาครประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานหนักตั้งแต่เกิดโควิดรอบแรก เนื่องจากแรงงานต่างด้าวทยอยกลับบ้าน และกลับมาไม่ได้อีก ปัญหาแย่งแรงงานจึงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการเสนอค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการที่จูงใจกว่า เงินค่าจ้างต่างกัน 10 บาท แรงงานก็ย้ายงานแล้ว
เปิดให้ยื่นขอแรงงานต่างด้าว
สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานของภาครัฐ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU ในสถานการณ์โควิด-19 ได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำร้องแจ้งจำนวนที่ต้องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตั้ง 1 ธ.ค. 2564 โดยยังไม่มีกำหนดวันปิดรับ ซึ่งผู้ที่มายื่นคำร้องต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าแรงงาน หรือนายจ้างเท่านั้น
”เรื่องจำนวนการนำเข้าเราไม่ได้จำกัด จะดูความเหมาะสมของจำนวนที่ขอนำเข้ากับขนาดกิจการ หรือขนาดโปรเจ็กต์งาน ป้องกันการนำแรงงานไปขายต่อ เมื่อนายจ้างยื่นดีมานด์มาแล้ว กรมการจัดหางานจะพิจารณา จากเดิมที่ให้ยื่นผ่านจัดหางานจังหวัด และส่งเรื่องไปประเทศต้นทาง เพราะตอนนี้ต้องพิจารณาความพร้อมในการจ่ายค่ากักตัว ค่าตรวจเชื้อโควิด-19 RT-PCR ของนายจ้าง รวมค่าใช้จ่ายทั้งกระบวนการ 11,490-22,040 บาทต่อแรงงานข้ามชาติ 1 คน”
ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติที่เปิดให้นำเข้าตาม MOU มี 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว ส่วนเวียดนามก็เปิดให้นำเข้า แต่อยู่ในกระบวนการให้ ศบค.พิจารณาเรื่องสถานที่กักตัว ว่าควรเป็นที่สถานประกอบการของนายจ้างหรือที่ไหน เพราะเวียดนามไม่มีด่านที่สามารถเดินทางเข้าไทยภาคพื้นดิน ต้องเดินทางผ่านสนามบินเท่านั้น ต่างจากเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่เข้ามาแล้วกักตัวที่ชายแดนได้ ก่อนกระจายไปทำงานในแต่ละจังหวัด
เปิด 5 จุดกักตัวด่านชายแดน
ตอนนี้สถานที่กักตัวตามด่านชายแดนมี 5 จุด ชายแดนเมียนมา 2 จุดที่ จ.ระนอง และ อ.แม่สอด จ.ตาก, ชายแดน กัมพูชา 1 จุดที่ จ.สระแก้ว และชายแดน ลาว 2 จุดที่ จ.หนองคาย กับมุกดาหาร มีที่กักตัวเพียงพอ เพราะมีการนำเข้าแรงงานจากลาวไม่มาก ส่วน อ.แม่สอด นำเข้าแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ตอนนี้ที่กักตัวมีประมาณ 1 พันเตียง และภาคเอกชนกำลังทำเพิ่ม จะทยอยเข้ามาเป็นลอต ๆ เพื่อบริหารที่กักตัวให้เพียงพอ
ต้อนแรงงานเถื่อนขึ้นทะเบียน
นายไพโรจน์กล่าวว่า ในส่วนของมติ ครม.วันที่ 28 ก.ย. 2564 ที่เห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ตรวจไซต์ก่อสร้าง สถานประกอบการ และโรงงาน ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อแนะนำการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด ตรวจใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว หากพบว่าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะบันทึกข้อมูลและให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงานข้ามชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย มีสวัสดิการดูแลสุขภาพ และสิทธิที่พึงมี
ยอดตั้งแต่ 1-29 พ.ย. 2564 พบแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน บันทึกข้อมูลแล้ว 215,478 คน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการเข้าตรวจจะมีถึง 2.4 แสนคน หลังวันบันทึกข้อมูล นายจ้างต้องมายื่นคำขออนุญาตทำงานแทนลูกจ้างภายใน 7 วัน ซึ่งมีนายจ้างยื่นเข้ามาแล้วจำนวนมาก เบื้องต้นคีย์ข้อมูลเข้าระบบแล้ว 5.3 หมื่นราย หากนายจ้างไม่ยื่นขออนุญาตทำงานให้จะกลายเป็นการจ้างงานโดยผิดกฎหมาย มีโทษทั้งนายจ้างลูกจ้าง
หลัง 30 พ.ย.นำเข้าทางเดียว
”ผมคาดว่าจะมีนายจ้างมายื่นขออนุญาตทำงานแทนลูกจ้างเกือบครบ อาจยกเว้นกิจการภาคเกษตร สวนปาล์ม สวนยาง เจ้าหน้าที่อาจตรวจสอบไม่พบ แต่แรงงานก็อยากมีใบอนุญาตถูกกฎหมาย เพื่อจะได้รับการดูแลด้านสวัสดิการจากรัฐได้ ไม่มีใครอยากเป็นแรงงานเถื่อน ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งบันทึกข้อมูลใบอนุญาตทำงาน เพราะมีผู้มายื่นจำนวนมาก โดยเฉพาะนายจ้างใน จ.สมุทรสาคร ชลบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ”
สำหรับการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวขาดแคลนในอนาคต เมื่อการดำเนินงานภายใต้มติ ครม.วันที่ 28 ก.ย. 2564 สิ้นสุด จะไม่มีการให้ต่อรองหรือเก็บตกแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานอีกแล้ว แต่จะใช้วิธีการเปิดด่านเพิ่มนำเข้าแรงงานตาม MOU เช่น ด่าน จ.กาญจนบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.จันทบุรี เป็นต้น
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ