7 ความลับกู้ธนาคารให้ผ่าน

2,638 0

สมศักดิ์ ชุติศิลป์ นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ “ เมื่อช่วงวันที่ 3-4 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา MAREC'17 (Malaysian Annual Real Estate Convention) ที่เมือง SETIA ประเทศมาเลเซีย มีหัวข้อในการสัมมนาที่น่าสนใจหลายเรื่อง หัวข้อหนึ่งคือ 7 ความลับในการกู้ธนาคารให้ผ่าน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อที่ผู้อ่านได้เตรียมความพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่ทางสถาบันการเงินตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้ใน 7 หัวข้อดังนี้

1. Application Score คือ การให้คะแนนจากใบสมัครขอสินเชื่อ รายละเอียดที่กรอกจะเป็นข้อมูลส่วนตัว อายุ เพศ อาชีพ ที่มาของรายได้ ทรัพย์สมบัติที่มี ฯลฯ แล้วใช้ Score Engine เป็นผู้ประเมิน การ กรอกใบสมัครขอสินเชื่อในบางประเด็นที่ทำให้คะแนนออกมาสูงคือ ก.ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันถ้าเป็นบ้านของตนเองจะดีกว่าเช่าอยู่หรืออยู่กับพ่อแม่ ข. อายุงานยิ่งนานจะดีกว่าเพิ่งเริ่มงาน

2. Income Recognition คือ การพิจารณาที่มาของรายได้ สถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ กับผู้สมัครที่มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำง่ายกว่าพวกที่เป็น ก.ผู้มีรายได้ไม่สม่ำเสมอหรือมาเป็นช่วง ข.เป็นเจ้าของกิจการเอง ค.ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีรายได้ ง.ผู้ที่รายได้รับเป็นเงินสดแล้วไม่เคยเดินบัญชีกับสถาบันการเงิน

3. Credit Score คือ การตรวจสอบการชำระเงินเมื่อใช้บัตรเครดิต หรือการใช้บัตรเครดิตผ่อนชำระสินค้ามีข้อแนะนำเพื่อให้ได้คะแนนออกมาดีดังนี้
ก.อย่าใช้จ่ายเกิน 70% ของวงเงินเครดิตการ์ดในแต่ละบัตร ถ้าจะเกินก็เปลี่ยนใช้บัตรของแบงก์อื่น
ข.คนที่เคยมีประวัติเคยใช้สินเชื่อจะได้คะแนนดีกว่าคนที่ขอสินเชื่อเป็นครั้งแรก
ค.คนที่มีประวัติหนี้เสียกับสินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันจะไม่สามารถกู้จากสถาบันการเงินไหนได้
ง.คนที่ประวัติชำระค่างวดไม่ตรงเวลา คะแนนจะไม่ดี และในกรณีที่ชำระตรงเวลาเหมือนกันคนที่ผ่อนชำระบัตรเครดิตงวดละ 5-10% จะมีคะแนนสูงกว่าคนที่ชำระทั้งก้อน 100%

4. Credit Issue คือ ผู้ที่ส่งค่างวดไม่ตรงเวลาหรือเกินกำหนด ผู้ที่ขาดส่งค่างวด หรือผู้ที่ใช้บัตรเครดิตเกินวงเงิน คนเหล่านี้จะขอสินเชื่อได้ยาก

5. Bad Status in CCRIS หรือ ผู้ที่ติด Credit Bureau คือ คนที่มีประวัติหนี้เสียร้ายแรงในหัวข้อที่ทางสถาบันการเงินไม่ยอมให้สินเชื่อเด็ดขาด ท่านจะไม่สามารถขอสินเชื่อได้

6. Bounced cheque คือ ผู้ที่มีประวัติปล่อยให้เช็คเด้งถึง 2 ครั้ง โดยทางสถาบันการเงินจะเช็กประวัติย้อนหลัง 12 เดือน จะขอสินเชื่อได้ยากหรือไม่ได้เลย

7. DSR (Debt Service Ratio) คือ สัดส่วนระหว่างภาระที่ต้องส่งทั้งหมด (ภาระเดิมที่มีอยู่+ภาระที่ต้องส่งใหม่) ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษี) โดยปกติแต่ละแบงก์จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ผู้สมัครจะขอ สินเชื่อได้ง่ายกว่าในแบงก์ที่มีค่า DSR สูง และยังขึ้นกับคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อด้วย เช่น ผู้สมัครที่มีเงินเดือนประจำก็จะมีค่า DSR ที่สูงกว่า คนที่มีรายได้ ไม่สม่ำเสมอ เมื่อเรารู้แล้วว่าเกณฑ์ที่สถาบันการเงินใช้เป็นหลักในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ผู้อ่านที่ต้องการขอ สินเชื่อในอนาคตลองเอาแนวทางที่แนะนำเหล่านี้ไปลองปรับใช้กับตัวเองดูครับ

 

ที่มา: คอลัมน์ อสังหารีเซล โพสต์ทูเดย์

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button